รีวิว Lenovo A7000 สเปคอลังการแบบพอเพียง มีดีกว่าที่ราคาประหยัด
Lenovo ส่งมาอีกหนึ่งรุ่นเข้าสู่ตลาดสมาร์ทโฟนระบบแอนดรอยด์ในช่วงกลางปีนี้ครับ เป็นเครื่องราคาไม่แพง 5,290 บาท แต่การใช้งานจากที่ได้ทดสอบมา บอกก่อนตรงนี้เลยว่า แอนดรอยด์ในสมัยนี้ ราคาเท่านี้ก็เกินจะพอแล้วครับ
A7000 เป็นสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ที่มีหน้าจอแสดงผลขนาด 5.5 นิ้ว ความละเอียด HD 720p นี่คือขนาดหน้าจอและความละเอียดที่เป็นสมรภูมิรบของเครื่องแอนดรอยด์ในตอนนี้เลยครับ ตัวเด่นๆ กระแสแรงๆ อยู่ที่สเปคหน้าจอประมาณนี้หมด แต่สเปคในส่วนอื่นๆ และราคาก็แตกต่างกันออกไป เป็นตัวเลือกที่สนุกเลยละครับ
ในราคา 5,290 บาทของ Lenovo A7000 ได้เครื่องที่ภายนอกดูเรียบๆ แสนจะธรรมดาตามราคามันเลยละครับ แต่การประกอบตามมาตรฐานของ Lenovo ทำมาได้แน่นดี
ปุ่มควบคุมด้านล่างสามปุ่มไม่มีไฟนะครับ
ตัวเครื่องสีดำ ปุ่มควบคุมอยู่ด้านข้าง ผมชอบมากกว่าปุ่มอยู่ด้านบนเครื่อง เพราะหน้าจอ 5.5 นิ้ว ก็ถือว่าเป็นเครื่องที่ใหญ่แล้วนะ ถ้าอยากให้กดใช้งานได้ในมือเดียว ปุ่มต้องอยู่ข้างเครื่องแบบนี้ครับ
กล้องถ่ายภาพขนาด 8 ล้านพิกเซล อยู่ด้ายบนซ้าย จะสังเกตเห็นว่าเจ้า A7000 มาพร้อมกับ Flash ถ่ายภาพสองดวงครับ ช่วยให้แสงในที่มืด
ลำโพงวางตำแหน่งเก๋ๆ ด้านหลังที่เหลือเรียบๆ โค้งนิดๆ เรียกว่าออกแบบง่ายๆ ไม่ดูหรู แต่ไม่ดูกระจอก ออกแบบได้ถนอมตัวครับ ^^
อุปกรณ์ภายในกล่อง
- ที่ชาร์จ
- สาย Data USB
- หูฟัง
- ฟิล์มกันรอย
- คู่มือ
การใช้งาน
มาถึงจุดขายที่ผมจะเริ่มขายของละนะครับ จากที่ได้ทดสอบ ก็อยากจะแนะนำเป็นรุ่นในตัวเลือกของเพื่อนๆ อีกสักรุ่นหนึ่งในราคาประมาณนี้ครับ เพราะการใช้งานบอกเลยว่าลื่นมาก ทำงานได้ไม่ติดขัด ชุดประมวลผล 8 หัวของ MTK ตัวนี้กับแรมขนาด 2GB เอาอยู่หมดทุกการทำงานบนระบบ Android 5.0
หน้าการทำงานของ A7000 คือ Lenovo VIBE UI ที่ออกแบบมาให้ใช้ง่ายโดยการตัดหน้า Appdrawer ออกไป เหลือเพียงหน้าโฮมเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นไอคอนเรียกใช้งานแอพต่างๆ ทั้งหมดของเครื่อง หรือจะเป็น Widget ที่เราต้องการจะวางเพื่อใช้งานบนหน้าโฮม ก็อยู่รวมกันทั้งหมดครับ จัดวางกันเอาเอง สามารถรวมใส่ไอคอนแอพไว้ในโฟลเดอร์ได้เพื่อกันความรก
ปกติหน้าโฮมแบบนี้ มือถือจากแบรนด์จีนจะนิยมกันมากครับ ข้อดีคือลดความสับสน ตัดหน้า Appdrawer ออกไป ข้อเสียคือจัดหน้าจอกันเยอะหน่อย และอาจจะส่งผลให้การทำงานหนืดได้ เพราะหน้าโฮมมีการทำงานเยอะเกินไป แต่สำหรับ A7000 ไม่แสดงอาการให้เห็นเลยครับ ประสิทธิภาพเพียงพอมากๆ จากที่ทดสอบมา
ไอคอนแบบโปร่งใส หน้าการแจ้งเตือนแบบโปร่งใส่ ทั้งหมดคือสไตล์ของ Android เวอร์ชั่น 5 การรูดสเตตัวบาร์ด้านบนลงมา สามารถทำได้ทั้งแบบหนึ่งนิ้วและสองนิ้วครับ หนึ่งนิ้วสำหรับดูการแจ้งเตือน และสองนิ้วสำหรับการเรียกใช้งานปุ่ม Toggle เปิดปิดการทำงานต่างๆ แบบรวดเร็ว
แต่สำหรับ VIBE UI ของ Lenovo A7000 จะสามารถรูดคำสั่งใช้งานการตั้งค่าหน้าโฮมได้จากด้านล่าง เป็นการเรียกใช้การตั้งค่า ธีม และรูปแบบหน้าล็อกสกรีน รวมทั้งหน้าแสดงแอพพลิเคชั่นย้อนหลังก็ปรับเปลี่ยนได้ครับ (หรือจะเรียกด้วยการกดปุ่ม Recent App ค้างไว้ได้เช่นกัน)
ธีมมีให้ใช้งานหลายตัว เน้นสีสดทีเดียว
มีวอลล์เปเปอร์ และ รูปแบบการแจ้งเตือนในหน้าล็อก ว่าจะใช้การออกแบบของระบบ Android หรือใช้ของ Lenovo เอง
ในหน้า Recent App หรือหน้าแสดงแอพพลิเคชั่นย้อนหลัง สามารถปรับเปลี่ยนได้ด้วย มีแบบของ Android 5 และแบบของ Lenovo อันนี้แปลกดีครับ น้อยเครื่องที่จะปรับให้เลือกได้แบบนี้ ชอบแบบไหนเอาแบบนั้นครับ แนวตั้งซ้อนกัน หรือจะเอาแบบแนวนอน
หน้าเดสท็อป สามารถกำหนดได้ว่า ให้แสดงวนไปเรื่อยๆ เมื่อสไลด์หน้าจอไปหน้าสุดท้าย และมีฟังชั่นการจัดเรียงไอคอนแอพให้เราอัตโนมัติด้วยครับ โดยแอพพลิเคชั่นจะจัดเรียงแถวให้เราเองเมื่อมีการเพิ่มเข้าไปในเครื่อง
จีบนิ้วเข้าด้วยกันในหน้าโฮม เพื่อจัดเรียงหน้า
ด้วยความที่ A7000 มาพร้อมกับระบบ Android 5 จึงมีฟังชั่นที่สามารถแยกผู้ใช้ออกจากกันเป็นอิสระได้ครับ โดยจะแยกไฟล์ แยกแอพพลิเคชั่น เหมือนการใช้งานต่างเครื่องกันในแต่ละบัญชีผู้ใช้ แค่จะใช้พื้นที่หน่วยความจำเครื่องร่วมกันเท่านั้นครับ เหมาะสำหรับการใช้งานเครื่องแบบสลับกันหลายคน
ฟังชั่นที่ผมชอบคือตัวนี้ครับ เครื่อง A7000 มันจะเก็บประวัติการแจ้งเตือนของเราเอาไว้ให้อีกครั้งหนึ่งครับ ในกรณีที่เราลิมไปว่า การแจ้งเตือนที่เข้ามาก่อนหน้านี้มีอะไร สามารถย้อนกลับไปดูได้ที่ปุ่มคำสั่งด้านล่างนี้ครับ
และเรายังสามารถกำหนดการแจ้งเตือนได้อย่างละเอียดอีกด้วย ไม่ใช่แค่ปิดหรือเปิด การแจ้งเตือนเท่านั้น แต่เราระบุความสำคัญของการแจ้งเตือนเอาไว้ได้ว่า แอพไหนหรือการทำงานอะไรที่สำคัญเกินกว่าจะปิดเอาไว้ และแอพไหนที่เราไม่ต้องการให้มันแจ้งเตือนเข้ามา
คำสั่งด่วนสำหรับกำหนดระดับการแจ้งเตือนเมื่อกดปุ่มหรี่เสียงเพิ่มเสียง กำหนดได้ทันทีว่าจะให้ปิดการแจ้งเตือน หรือแจ้งเตือนแต่การทำงานที่สำคัญตามที่เราตั้งค่าไว้ หรือเปิดการเตือนเต็มรูปแบบ พร้อมกับแสดงจำนวนปริมาณอินเตอร์เน็ตที่เราใช้งานไปในแต่ละซิมได้ครับ
ฟังชั่นและฟีเจอร์
ความอภินิหารของเจ้าตัวนี้มันมีอยู่เยอะครับ ผมจะไล่เรียงตัวที่น่าสนใจกันไปเรื่อยๆ นะครับ โดยเริ่มที่การตั้งเสียงเรียกเข้าของ A7000 ที่สามารถแยกการแจ้งเตือนของสองซิมการ์ดได้แยกกัน
โดยการทำงานของสองซิมนั้น มีเพียงซิมแรกเท่านั้นนะครับ ที่รองรับการเชื่อมต่อ 3G และ 4G ส่วนซิมที่สองสำหรับสายสนทนาหรือ 2G เพียงเท่านั้นนะครับ
สามารถจัดเรียงความสำคัญของแอพในการแจ้งเตือน โดยสามารถระบุให้มีการแจ้งเตือนตามปกติ (Timeline) หรือจะกำหนดค่าความสำคัญก่อนและหลังตามแอพพลิเคชั่นที่เราใช้งาน ยังตังให้ Status Bar แสดงความเร็วของอินเตอร์เน็ตได้ด้วยนะครับ
มีฟังชั่นการบันทึกภาพด่วน โดยการกดปุ่มปรับระดับเสียงสองครั้งในขณะหน้าจอล็อก ตัวเครื่องก็จะเปิดขึ้นมาเพิ่มบันทึกภาพได้ในทันทีครับ
ดับเบิ้ลคลิ๊กหน้าจอสองครั้ง เพื่อปลุกเครื่องขึ้นมาทำงานครับ และสามารถตั้งค่าการปลุกเครื่องในรูปแบบอื่นๆ ได้อีกเช่น การรูดหน้าจอด้านล่างไปทางซ้ายและขวาเพื่อเข้าหน้าการทำงานโดยตรง หรือการวาดรูปสัญลักษณ์ตัวอักษรเพื่อเข้าการทำงานแอพพลิเคชั่นที่เราเซ็ตค่าไว้ได้ทันทีครับ
A7000 มีการเซ็ตโปรไฟล์การทำงานแบบละเอียดยิบที่คุณอาจจะใช้งานได้แบบคาดไม่ถึงเลยครับ เพราะมันสามารถรูปแบบชีวิตเราได้ทั้งในเรื่องของเวลานอน (อันนี้เครื่องอื่นๆ ก็ทำได้) ตั้งเวลาพักเที่ยง เวลาการทำงาน หรือแม้แต่นักเรียนนักศีกษา ก็สามารถกำหนดเวลาชั้นเรียนเอาไว้ล่วงหน้า เพื่อให้เครื่องเข้าสู่รูปแบบการทำงานที่เหมาะสมตามที่เรากำหนดไว้ในแต่ละช่วงเวลา ต้องการเปิดปิดการทำงานใด เซ็ตไว้ก่อน แล้วมันก็จะเปลี่ยนไปเองตามวัน เวลา ดังกล่าวครับ ต้องยอมรับว่าในจุดนี้ทำมาได้ละเอียดมากจริงๆ
การปรับเทียบไวด์ทัช เป็นฟังชั่นที่ชื่อไทยแปลมาได้ตรงตัวจนงงเลยละครับ จริงๆ แล้วเจ้าไวด์ทัชนั้นคือปุ่มโฮมเสมือนนั้นแหละครับ แต่มันมีความสามารถมากขึ้นกว่าแต่ก่อน เราระบุได้ว่า ในปุ่มโฮมเสมือนไวด์ทัชนั้น จะให้มีคำสั่งเรียกการทำงานอะไรบ้างที่เราใช้งานบ่อยๆ รวมถึงไอคอนเรียกใช้งานแอพพลิเคชั่น ก็สามารถระบุเข้าไปได้เช่นกันว่าต้องการให้เป็นคีย์ลัดสำหรับการเรียกใช้งานแอพพลิเคชั่นอะไรบ้างครับ
ถ้าเซ็ตเอาไว้ดีๆ ผมว่าอาจจะไม่ต้องกลับมาหน้าโฮมอีกเลยก็ได้นะครับเนี่ย โดยเราสามารถซ่อนหรือเรียกใช้เจ้าไวด์ทัชนี้ได้โดยการทัชค้าง หรือตั้งรูปการการทัชของตัวไวด์ทัชได้หลายแบบครับ ในเมนูการตั้งค่าของตัวมันเอง
มีระบบรับสายแบบสมาร์ทและสลับโหมดแฮนด์ฟรีอัตโนมัติโดยการยกเครื่องขึ้นมาแนบหู ก็จะเป็นการรับสายหรือสลับสายจากหูฟังมาใช้งานสนทนาบนตัวเครื่องได้ทันที
สามารถกำหนดเวลาเปิดและปิดของตัวเครื่องเองได้ล่วงหน้าครับ ระบุได้ทั้งวัน และเวลาที่ต้องการจะให้เครื่องเปิดปิดเอง
“โหมดปลอดภัย” สมาร์ทโฟนสมัยใหม่ไม่มีโหมดนี้ไม่ได้นะครับ เพราะคนเดี๋ยวนี้ความลับเยอะกันเหลือเกิน โดยเจ้าโหมดปลอดภัยนี้จะแยกการทำงานออกไปเป็นเอกเทศ เหมือนเป็นอีกหนึ่งเครื่องบนเครื่อง A7000 ของเราครับ จะเข้าไปใช้งานเจ้าเครื่องนั้นได้ต้องรู้รหัสซะก่อน โดยจะมีการแยกแอพพลิเคชั่นที่เราต้องการใช้งานในโหมดนั้นต่างหากออกไป แม้จะเป็นแอพเดียวกันก็เหมือนเป็นแอพที่ติดตั้งลงบนเครื่องที่ต่างกันครับ ใครที่ต้องการความปลอดภัยที่สูงมากขึ้นก็สามารถเปิดใช้งานได้ในการตั้งค่า หรือในการเปิดปิดแบบด่วนบน Status Bar ครับ
การจัดการด้านพลังงาน
ตัวเครื่อง A7000 มีแบตเตอรี่ที่มาให้ในตัวไม่น้อยนะครับ 2,900mAh เลยทีเดียว ใช้งานตามปกติก็อยู่ได้ครับเช้าถึงเย็น จะว่าไปก็ไม่ได้อึดมากอย่างท่ีคิด แต่มีระบบการจัดสรรพลังงานที่ให้มาเยอะมาก โดยจะมีโหมดประหยัดพลังงานมาให้ถึงสามรูปแบบ
- โหมดประหยัดแบตเตอรี่แบบพื้นฐาน ซึ่งจะลดความสว่างหน้าจอ ปิดระบบกันสั่น
- โหมดประหยัดพลังงานหน้าจอและ GPU จะเป็นการเปิดใช้เทคโนโลยีการประหยัดพลังงานการแสดงผล และลดการประมวลผลของการ์ดจอลง
- โหมดประหยัดพลังงานขั้นสูง ที่จะเปลี่ยนเครื่องสมาร์ทโฟนของเราเป็นโทรศัพท์ธรรมดาๆ ที่จะอยู่กับเราได้เป็นอาทิตย์เลยละครับ
เราสามารถเข้าไปดูการใช้พลังงานของแอพพลิเคชั่นและอุปกรณ์ของเราได้ ว่าอะไรที่สูบแบตเตอรี่เราไปครับ
หน่วยความจำที่เก็บข้อมูล
Lenovo A7000 มีความพิเศษในเรื่องของการสลับสับเปลี่ยนหน่วยความจำหลักที่ใช้งานครับ โดยปกติตัวมันเองจะมีหน่วยความจำภายในมาให้ 8GB และสามารถใช้หน่วยความจำภายนอกเป็นที่จัดเก็บไฟล์ภาพ หนัง เพลง หรือสื่ออื่นๆ ได้
แต่เรายังสามารถตั้งค่าให้หน่วยความจำภายนอกหรือ Micro SD card ที่เราใส่เข้าไป ให้กลับกลายเป็นหน่วยความจำหลักของตัวเครื่องได้แทนครับ จะทำให้เราสามารถติดตั้งแอพพลิเคชั่นหรือเกมต่างๆ ลงไปใน SD card ได้โดยตรง ข้อดีคือเป็นการขยายหน่วยความจำให้ใหญ่มากขึ้นสำหรับการติดตั้งแอพพลิเคชั่น ข้อเสียคือไม่สามารถใช้งานแอพหรือเกมที่ติดตั้งลงในหน่วยความจำภายใน (8GB) ได้
การแสดงผล
หน้าจอสีสวยครับ คมดีทีเดียว เป็นหน้าจอ 720pที่คุณภาพใช้ได้เลยครับ มุมมองกว้าง แต่เอียงข้างมากๆ กระจกมีเงาสะท้อนพอประมาณ สีสันสดดีครับ ทำให้เครื่องดูเกินราคาก็เป็นเรื่องของหน้าจอนี่แหละครับที่สำคัญ
การเข้าเว็บ การอ่านหนังสือ อ่านได้สบายๆ ครับ หน้าจอขนาดนี้กับความคมชัดระดับนี้
ทดสอบเล่นหนังไฟล์ MKV 1080p เล่นได้สมบูรณ์ครับ ไม่ติดขัดไม่หน่วง CPU MT6752M Octa-core 8หัว 1.2 GHz 64-bit
ตัวนี้ก็เป็นขั้นสูงของ MTK เขาเหมือนกัน
แอพพลิเคชั่นเล่นหนัง ยังสามารถเปิดเป็นแบบมินิ Pop up เล็กๆ สำหรับการรับชมวีดีโอไปขณะทำงานอย่างอื่นไปด้วยได้ครับ
แถมมีความสามารถในการสร้างภาพ Gif อนิเมชั่นเคลื่อนไหวสั้นๆ จากวีดีโอที่กำลังเล่นได้อยู่ด้วย
คุณภาพเสียง
ลำโพงเสียงดีกว่าที่คิดครั้บ ไม่ได้ดีมาก แต่เสียงใส ย่านเสียงกลางคมดีใช้ได้เลย มาพร้อมกับระบบ Dolby Atmos ที่สามารถปรับแต่งเสียงได้ตามพรีเซ็ตที่แอพเตรียมไว้ให้ เช่นฟังเพลง ดูหนัง และสามารถใช้งานกับหูฟังได้มากฟังชั่นยิ่งขึ้นเช่นระบบเซอร์ราวด์
ลำโพงอยู่ในจุดแปลกๆ เสียงจะดีกว่าเมื่อถือ แต่จะเสียงจะแบนลงเมื่อวางหงาย ออกแบบด้านหลังบังลำโพงไปหน่อยครับ
หูฟังที่แถมมาให้ เสียงพอใช้ได้ครับ ไม่ดีมาก แต่ชอบที่มันไม่ใช่หูฟังแบบ In-Ear
ประสิทธิภาพการเล่นเกม
เล่นเกมระดับ HD ได้สบายๆ ครับ จริงๆ แล้วในเครื่องแอนดรอยด์ราคาเท่านี่ เราก็ได้เครื่องที่ใช้งานบนระบบแอนดรอยด์ได้สมบูรณ์แล้วละครับ ถ้าจะออกอาการจริงๆ ก็คงจะเห็นได้น้อยเต็มที อาการจะออก ก็ต้องลองทดสอบเข้าๆ ออกๆ ขณะใช้งานแอพพลิเคชั่นเกมใหญ่ๆ แบบนี้ละครับ จะมีอาการช้าในการรีโหลดแอพหรือหน้าโฮมให้เห็นเช่นกัน แม้จะมีแรมขนาด 2GB ก็ตาม
ผลทดสอบต่างๆ
การจับสัญญาณ GPS โดยไม่ใช้อินเตอร์เน็ตช่วย จะใช้เวลาประมาณนึงครับแต่ก็หาตำแหน่งได้ ถ้าจะใช้ไปนำทาง คงต้องเปิดอินเตอร์เน็ตไว้ครับจะรวดเร็วกว่ามาก
มัลติทัชห้าจุด ตัดกันมีหลุดให้เห็นอยู่ครับ
ทดสอบกล้องถ่ายภาพ
หน้าตาการใช้งานของกล้องถ่ายภาพเจ้า A7000 สวยดีครับ ตามสมัยนิยม การทัชโฟกัสไฟวอยู่ครับ ในที่แสงพอนี่ก็ถือว่าใช้ได้เลยครับ แต่ในที่แสงน้อยก็อย่าหวังความมหัศจรรย์เช่นกัน
มีโหมดการทำงานอยู่ให้สามโหมด ถ่ายอัตโนมัตปกติ โหมดพาโนรามา และโหมดใส่เอฟเฟ็กต์ฟิลเตอร์
ตัวอย่างภาพถ่าย Lenovo A7000
ภาพถ่ายในอาคาร แสงน้อย
ฟังชั่นการทำงานของกล้องหน้า น่ารักมากครับ ^^ โดยเฉพาะผู้ชื่นชอบการถ่ายภาพเซลฟี่ เพราะนอกจากจะมีโหมดบิวตี้ที่ปรับระดับความใสของหนังหน้าได้แล้ว ยังมีโหมดการถ่ายภาพอัตโนมัติที่น่ารักๆ อย่างจับการกระพริบตา แค่เรากระพริบตาช้าๆ ตัวกล้องหน้าก็จะเริ่มนับถอยหลังเพื่อถ่ายภาพในสามวินาทีทันทีครับ หรือจะชูสองนิ้ว ทำมือบ๊ายบาย ตัวกล้องก็สามารถจับการเคลื่อนไหวและทำการถ่ายภาพได้เช่นกันครับ ^^
สรุปท้ายรีวิว
ทั้งหมดที่รีวิว อย่าลืมว่านี่คือมือถือราคา 5,290 บาทนะครับ สเปคเครื่องอาจจะไม่จัดเจนอลังการแบบสุดๆ แต่การใช้งานมันพอเพียงที่จะได้รับประสบการณ์ที่ดีมากแล้วบนระบบแอนดรอยด์ ตัวเครื่องภายนอกสำหรับผมอาจจะรู้สึกธรรมดา แต่หน้าจอ ลำโพง และฟังชั่นกล้องหน้า ก็คุ้มค่ามากแล้วครับกับการลงทุนเพียงแค่ห้าพันกว่าบาท
หน้าข้อมูลสินค้าลิงก์สั่งซื้อผ่าน LAZADA <<<คลิ๊ก
[gradeB]
Specification Lenovo A7000
- Android 5
- หน้าจอ 5.5 นิ้ว 720p HD IPS
- แรม 2GB
- หน่วยความจำภายใน 8GB รองรับ Micro SDcard
- กล้องถ่ายภาพ 8 ล้านพิกเซล กล้องหน้า 5 ล้านพิกเซล
- สองซิม รองรับ 3G และ 4G
- แบตเตอรี่ 2,900 mAh
- ตัวที่ได้มาทดสอบ เป็นเครื่องรหัสรุ่น A7000-a รองรับ 3G 900/2100