Philips Hue Play HDMI Sync Box เปลี่ยนมิติการดูหนังและเล่นเกมกับไฟที่เปลี่ยนสีตามการแสดงผลจริง
Philips Hue Play HDMI Sync Box นั้นทำหน้าที่ของมันได้ดีที่สุดในท้องตลาดแล้วล่ะกับการเป็นกล่องที่เป็นตัวเชื่อมระบบไฟให้กลายเป็น Bias Lighting แบบ Responsive และถึงแม้ว่ามันจะยังเหมือนมีบั๊กให้เห็นอยู่บ้างเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็ยังพอจะมองข้ามไปได้เพราะความเจ๋งของมันนี่แหละ แต่ข้อเสียใหญ่ๆ เลยเห็นจะหนีไม่พ้นเรื่องความยุ่งยากในการเซ็ตอัพและการตั้งค่าต่างๆ ที่แทบไม่มีไกด์อะไรบอกใบ้ให้กับผู้ใช้งานเลยแม้แต่น้อย หากแต่ต้องเสียเวลาลองผิดลองถูกกันเองจนกว่าจะได้เซ็ตอัพไฟที่เหมาะสมถูกใจ ซึ่งก็ใช้เวลาไม่น้อยเลยทีเดียว
The Good
- ดีที่สุดในด้านการเป็น Bias Light แบบ Responsive
- ไฟตอบสนองได้อย่างว่องไวและแม่นยำ ทำให้ไม่ขัดใจเวลาเปิดใช้งาน
- ใช้งานได้กับอุปกรณ์ที่ต่อ HDMI ทุกตัวเพราะอ่านค่าจากสัญญาณ HDMI
- รองรับระบบภาพ Dolby Vision และ HDR10+
- มีพอร์ต HDMI ARC มาให้พร้อมกับ HDMI In อีก 4 พอร์ตสำหรับการเชื่อมต่อที่หลากหลาย
- ไฟในชุด Philips Hue รองรับระบบสมาร์ทโฮมใหญ่ๆ ในปัจจุบันแบบครบถ้วน
The Bad
- มีราคาสูง
- ยังมีบั๊กที่ทำให้กล่องหยุดทำการซิงค์ไฟเกิดขึ้นให้เห็นบ้าง
- การเซ็ตอัพและการตั้งค่าที่ยุ่งยาก ไม่มีคำแนะนำที่ดีพอให้กับผู้ใช้งาน
- ยังไม่นำเข้ามาจำหน่ายอย่างเป็นทางการในประเทศไทย
- ไม่มีพอร์ต eARC สำหรับอุปกรณ์อย่าง PlayStation 5 และอุปกรณ์ที่รองรับมาตรฐาน HDMI 2.1 ขึ้นไปในปัจจุบัน
-
ประสิทธิภาพ
-
วัสดุและการประกอบ
-
ฟังก์ชั่นและประโยชน์ในการใช้งาน
-
ความคุ้มค่าต่อราคา
Bias Lighting นั้นถือว่าเป็นที่นิยมมากในการจัดไฟในห้องดูหนังหรือเล่นเกมที่มีความมืดสูง โดยนอกจากจะใช้เพื่อการตกแต่งเพิ่มความสวยงามให้กับสถานที่แล้ว แสง Bias Light ยังมีอีกหนึ่งหน้าที่สำคัญคือการช่วยให้ตาเราไม่รู้สึกล้าง่ายเกินไปเมื่อต้องจ้องทีวีหรือจอมอนิเตอร์ในห้องที่มืดสนิทอีกด้วย แต่ไอ้เจ้า Bias Lighting นี้เองก็มีแยกออกเป็น 2 แบบสำคัญอีก คือแบบที่เราเรียกว่า Static กับแบบ Responsive ซึ่งใน Philips Hue Play HDMI Sync Box นั้นจะให้แสงแบบ Responsive นั่นเอง
Bias Lighting แบบ Responsive และ Static ความแตกต่างที่ต้องเข้าใจ
Bias Light แบบ Static นั้น เปรียบให้เห็นภาพง่ายๆ ก็คือการใช้แสงมาช่วยหลังทีวีบางๆ เบาๆ แบบสีเดียว และไม่ได้เปลี่ยนไปตามการแสดงผลของภาพ ซึ่งเป็นเซ็ตอัพไฟที่ก่อนหน้านี้อเล็กซ์ใช้ในห้องดูหนังของตัวเอง ตามรูปด้านล่างนี้เลย
ในขณะที่ Bias Light แบบ Responsive นั้นจะแสดงไฟที่เปลี่ยนสีไปตามการแสดงผลจริงของภาพหน้าจอที่กำลังรับชม ซึ่งทำให้ขอบเขตของสีสันบนจอแสดงผลของเรานั้นส่องออกไปในอาณาเขตที่กว้างมากยิ่งขึ้น และการแสดงผลของสีนั้นก็ไม่จำกัด ขึ้นอยู่กับการเซ็ตอัพโซนไฟของแต่ละคนเลย ตามภาพด้านล่างนี้
ในขณะที่ Bias Light แบบ Responsive นั้นสามารถให้มิติการรับชมที่มากกว่าแบบ Static ซึ่งเพิ่มอรรถรสการดูหนังและการเล่นเกมของเราได้เยอะก็จริง แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านภาพหลายๆ ท่านก็ยังคงเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า Bias Light แบบ Responsive นั้นมีโอกาสที่จะลดทอนความคมชัดของภาพที่แสดงบนจอฉาย รวมไปจนถึงเบนความสนใจของสายตาออกไปจากคอนเทนต์ที่รับชมได้ ซึ่งตรงนี้คงต้องแล้วแต่การพิจารณาของแต่ละคน แต่สำหรับอเล็กซ์แล้วเมื่อได้ลองใช้งานจริงก็ต้องบอกว่าประมาณชั่วโมงแรกนั้นมีเป็นห่วงเหมือนกันเพราะตาแอบวอกแวกไปตามแสง แต่หลังจากนั้นก็เริ่มดีขึ้นและก็เปลี่ยนเป็นอรรถรสในการรับชมภาพตรงหน้าที่มากขึ้นจริงๆ ตามที่มันควรจะเป็น ซึ่งในส่วนนี้หากต้องเลือกระหว่าง Static กับ Responsive ต่อจากนี้ไป ตัวผมเองสามารถตอบได้อย่างเต็มปากเลยว่า Responsive นั้นชนะใสในทุกกรณี และคงไม่ถอยกลับไปเป็น Static Bias Light อีกแล้วล่ะครับ