Philips Hue Play HDMI Sync Box เปลี่ยนมิติการดูหนังและเล่นเกมกับไฟที่เปลี่ยนสีตามการแสดงผลจริง
Philips Hue Play HDMI Sync Box นั้นทำหน้าที่ของมันได้ดีที่สุดในท้องตลาดแล้วล่ะกับการเป็นกล่องที่เป็นตัวเชื่อมระบบไฟให้กลายเป็น Bias Lighting แบบ Responsive และถึงแม้ว่ามันจะยังเหมือนมีบั๊กให้เห็นอยู่บ้างเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็ยังพอจะมองข้ามไปได้เพราะความเจ๋งของมันนี่แหละ แต่ข้อเสียใหญ่ๆ เลยเห็นจะหนีไม่พ้นเรื่องความยุ่งยากในการเซ็ตอัพและการตั้งค่าต่างๆ ที่แทบไม่มีไกด์อะไรบอกใบ้ให้กับผู้ใช้งานเลยแม้แต่น้อย หากแต่ต้องเสียเวลาลองผิดลองถูกกันเองจนกว่าจะได้เซ็ตอัพไฟที่เหมาะสมถูกใจ ซึ่งก็ใช้เวลาไม่น้อยเลยทีเดียว
The Good
- ดีที่สุดในด้านการเป็น Bias Light แบบ Responsive
- ไฟตอบสนองได้อย่างว่องไวและแม่นยำ ทำให้ไม่ขัดใจเวลาเปิดใช้งาน
- ใช้งานได้กับอุปกรณ์ที่ต่อ HDMI ทุกตัวเพราะอ่านค่าจากสัญญาณ HDMI
- รองรับระบบภาพ Dolby Vision และ HDR10+
- มีพอร์ต HDMI ARC มาให้พร้อมกับ HDMI In อีก 4 พอร์ตสำหรับการเชื่อมต่อที่หลากหลาย
- ไฟในชุด Philips Hue รองรับระบบสมาร์ทโฮมใหญ่ๆ ในปัจจุบันแบบครบถ้วน
The Bad
- มีราคาสูง
- ยังมีบั๊กที่ทำให้กล่องหยุดทำการซิงค์ไฟเกิดขึ้นให้เห็นบ้าง
- การเซ็ตอัพและการตั้งค่าที่ยุ่งยาก ไม่มีคำแนะนำที่ดีพอให้กับผู้ใช้งาน
- ยังไม่นำเข้ามาจำหน่ายอย่างเป็นทางการในประเทศไทย
- ไม่มีพอร์ต eARC สำหรับอุปกรณ์อย่าง PlayStation 5 และอุปกรณ์ที่รองรับมาตรฐาน HDMI 2.1 ขึ้นไปในปัจจุบัน
-
ประสิทธิภาพ
-
วัสดุและการประกอบ
-
ฟังก์ชั่นและประโยชน์ในการใช้งาน
-
ความคุ้มค่าต่อราคา
หลังจากผ่านความวุ่นวายในเรื่องของการติดตั้งและการตั้งค่าเจ้า Philips Hue Play HDMI Sync Box กันมาได้แล้ว ทีนี้ก็ถึงเวลาที่เราจะได้ทดสอบประสิทธิภาพของมันเสียที ซึ่งหากใครติดตามมาจนถึงตอนนี้ก็ต้องบอกไว้ก่อนเลยว่าผลลัพธ์ที่ได้นั้นมันช่างยอดเยี่ยมจริงๆ และผมอาจจะกล้าพูดได้อย่างเต็มปากเลยว่านี่คือระบบ Bias Lighting ที่ดีที่สุดเท่าที่เคยได้ลองเล่นมา
หากจะต้องตัดสิน Philips Hue Play HDMI Sync Box กันที่เรื่องของการทำสิ่งที่มันควรทำได้ดีที่สุด คือการเป็น Bias Lighting แบบ Responsive แล้ว คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า Hue Play HDMI Sync Box นั้นแทบจะทำคะแนนได้เต็มไปเลยในส่วนนี้ ดีจนต้องให้สามผ่าน ยกนิ้วโป้งกันเลยทีเดียว
Advertisement Advertisement Advertisement
ประสิทธิภาพการทำงานช่างคุ้มค่าเหนื่อยที่เสียเวลาตรากตรำติดตั้งและเซ็ตค่าเสียเหลือเกิน
ที่พูดแบบนี้ก็เพราะเมื่อเราพูดถึงระบบ Bias Lighting แบบ Responsive แล้ว หนึ่งในปัญหาสำคัญที่สุดที่เจอแทบทุกครั้งที่ทดสอบผลิตภัณฑ์หรือวิธีการอื่นๆ นั้นคือปัญหาเรื่องความไวของไฟที่ตอบสนองต่อภาพหน้าจอได้ไม่ค่อยดีนัก โดยที่ผ่านมาเคยมีให้เห็นและได้ทดลองทั้งเทคโนโลยีที่ใช้กล้องในการตรวจจับแสงจากหน้าจอแล้วส่งต่อไปควบคุมสีของไฟ ซึ่งแรกๆ ก็สนุกกับการใช้ดีอยู่หรอก แต่ผ่านไปไม่นานก็ต้องพบกับความรำคาญเพราะอาการดีเลย์ของมัน หรือแม้แต่จะเป็นเทคโนโลยี Hue Sync บนคอมพิวเตอร์และ Android TV ของ Philips เอง (ที่บน Android TV ใช้ชื่อว่า Hue Steam) ที่แม้เรื่องความไวของการเปลี่ยนสีให้ทันภาพหน้าจอนั้นอาจจะไม่เป็นปัญหามากนัก แต่ก็ต้องมาติดประเด็นสำคัญอย่างเรื่องที่ว่ามันไม่รองรับการใช้งานร่วมกับแอพพลิเคชั่นสตรีมมิ่งสำคัญๆ อย่าง Netflix หรืออะไรเลย อันที่จริงเท่าที่ทดสอบต้องบอกว่ามันรองรับก็แค่ Youtube เท่านั้น ทั้งนี้เพราะเทคโนโลยีการอ่านค่าสีที่ใช้เบื้องหลังแอพพลิเคชั่นทั้งสองตัวนี้คือการแคปเจอร์หน้าจอของเราไว้แบบเรียลไทม์แล้วปล่อยค่าสีออกไปจากภาพหน้าจอที่แคปไว้ จึงทำให้มีปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์กับแอพพลิเคชั่นดูหนังสตรีมมิ่งสำคัญๆ ทั้งหลาย เป็นผลให้หลายแอพบน Android TV และ PC ต้องบล็อค Hue Sync จากการทำงานในขณะที่ใช้งานแอพพลิเคชั่นเหล่านั้น
แต่ Philips Hue Play HDMI Sync Box นั้นต่างจากเทคโนโลยีอื่นๆ ที่ผ่านมาโดยสิ้นเชิง โดยเจ้ากล่องตัวนี้จะอ่านค่าสัญญาณที่ส่งมาผ่านทางสาย HDMI แล้วประมวลผลมันออกมาเป็นสีสันส่งขึ้นไปยังหลอดไฟของเราในมุมต่างๆ ทำให้โดยส่วนตัวแล้วผมไม่รู้สึกถึงอาการดีเลย์ของไฟเลยสักนิดเดียว หนำซ้ำยังให้สีสันที่ถูกต้อง สมจริง เพิ่มมิติและบรรยากาศในการรับชมได้อย่างแท้จริง
นอกจากนี้ในระหว่างการรับชมเรายังสามารถปรับค่าความสว่างและความเข้มข้นของแสง รวมถึงโหมดการใช้งานได้แบบเรียลไทม์ผ่านทางแอพพลิเคชั่น Philips Hue Sync บนมือถือ รวมไปจนถึงการสั่งงานด้วยเสียงผ่าน Siri (อเล็กซ์ลองแค่บริการเดียว แต่จริงๆ มันรองรับ Google Assistant และ Amazon Alexa ด้วยนะ) ทำให้เราสามารถปรับเปลี่ยนโหมดต่างๆ ได้อย่างง่ายดายตามความเหมาะสมของคอนเทนต์ที่แสดงอยู่ตรงหน้า และจากที่ได้ลองใช้งานมาสักระยะหนึ่งนั้นพบว่าโดยส่วนตัวแล้วหากชมภาพยนตร์จะชอบการตั้งค่า Intensity ในระดับ High ที่ความสว่างของหลอดประมาณ 80% เป็นที่สุด แต่หากเล่นเกมที่มีการแช่ภาพในแต่ละจุดนานๆ ไม่วิบวับบ่อยเหมือนดูหนัง การปรับค่า Intensity ไว้ที่ Extreme พร้อมกับไฟที่เปิดสว่างประมาณ 90 – 100% คือตอบโจทย์งานเหล่านี้ได้ดีที่สุดเลย
อีกหนึ่งอย่างที่ต้องชมคือการเปิดฟังก์ชั่นให้ผู้ใช้งานสามารถตั้งค่าบนแอพพลิเคชั่น Hue Sync ได้ว่าเราต้องการให้ทำการซิงค์ไฟโดยอัตโนมัติกับการเชื่อมต่อ HDMI พอร์ตใด และพอร์ตไหนที่เราไม่อยากให้มันเปิดใช้งานซิงค์ไฟอัตโนมัติ โดยหากเราไม่เปิดใช้งานซิงค์ไฟ เราสามารถปรับไฟของเราให้เข้าสู่โหมด Bias Lighting แบบ Static ได้ คือการเลือกสีไฟที่เราต้องการเพียงสีเดียว หรือจะเลือกเป็นสีขาวนวลหรี่ไว้เพื่อป้องกันสายตาล้าก็ได้ ซึ่งออพชั่นนี้ใช้ได้ดีมากสำหรับคนที่ใช้พวกกล่อง Android Box หรือ Apple TV ในการดูรายการโทรทัศน์ต่างๆ เพราะแน่นอนว่าเราคงไม่ต้องการให้ไฟของเราเปลี่ยนสีตามหน้าจอในระหว่างที่เราดูโทรทัศน์ธรรมดาเพราะมันอาจรบกวนสายตาและการรับชมของเราได้หากใช้งานต่อเนื่องในระยะเวลานานเกินไป
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการใช้งานช่วงที่ผ่านมา ผมพบเจอปัญหาเรื่องการที่จู่ๆ Hue Play HDMI Sync Box ก็หยุดการซิงค์ไฟและไม่ตอบสนองไปชั่วขณะสักประมาณ 5 – 10 นาทีอยู่ 3 ครั้งด้วยกัน ทั้งนี้มันอาจไม่ได้ดูเป็นเปอร์เซ็นต์ผิดพลาดที่สูงมากนักแต่ก็ยังน่าหงุดหงิดและคิดว่ามันไม่ควรจะเกิดขึ้นกับผลิตภัณฑ์มูลค่า USD229.99 ขนาดนี้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังเชื่อว่านี่เป็นเพียงบั๊กที่เกี่ยวข้องกับตัวซอฟต์แวร์และจะสามารถแก้ไขได้ภายภาคหน้าเมื่อ Philips Hue ปล่อยเฟิร์มแวร์อัพเดตออกมา ซึ่งก็ต้องชื่นชม Hue ในส่วนนี้ว่าช่างเป็นแพลตฟอร์มที่ขยันปล่อยอัพเดตเสียเหลือเกิน
หากจะต้องตัดสิน Philips Hue Play HDMI Sync Box กันที่เรื่องของการทำสิ่งที่มันควรทำได้ดีที่สุด คือการเป็น Bias Lighting แบบ Responsive แล้ว คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า Hue Play HDMI Sync Box นั้นแทบจะทำคะแนนได้เต็มไปเลยในส่วนนี้ ดีจนต้องให้สามผ่าน ยกนิ้วโป้งกันเลยทีเดียว
ถึงเวลาฟันธง
ว่ากันตามตรงแล้ว Philips Hue Play HDMI Sync Box นั้นทำหน้าที่ของมันได้ดีที่สุดในท้องตลาดแล้วล่ะกับการเป็นกล่องที่เป็นตัวเชื่อมระบบไฟให้กลายเป็น Bias Lighting แบบ Responsive และถึงแม้ว่ามันจะยังเหมือนมีบั๊กให้เห็นอยู่บ้างเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็ยังพอจะมองข้ามไปได้เพราะความเจ๋งของมันนี่แหละ
แต่ข้อเสียใหญ่ๆ เลยเห็นจะหนีไม่พ้นเรื่องความยุ่งยากในการเซ็ตอัพและการตั้งค่าต่างๆ ที่แทบไม่มีไกด์อะไรบอกใบ้ให้กับผู้ใช้งานเลยแม้แต่น้อย หากแต่ต้องเสียเวลาลองผิดลองถูกกันเองจนกว่าจะได้เซ็ตอัพไฟที่เหมาะสมถูกใจ ซึ่งก็ใช้เวลาไม่น้อยเลยทีเดียว (แต่ถ้าอ่านมาถึงตรงนี้ได้ก็คงไม่ต้องลองผิดกันแล้ว เพราะ APPDISQUS ได้ลองและไกด์ไลน์ให้อย่างจัดเต็มไปแล้ว) รวมไปจนถึงเรื่องเทคโนโลยีหลักของกล่องเองอย่างพอร์ต HDMI ที่รองรับสูงสุดเพียงแค่สัญญาณ HDMI 2.0b เท่านั้นจึงอาจทำให้ตัวมันเป็นอุปกรณ์ตกรุ่นได้ในเร็ววันนี้ ยิ่งเมื่อประกอบกับความจริงที่ว่า PlayStation 5 นั้นประกาศอย่างเป็นทางการแล้วว่าจะรองรับ HDMI 2.1 VRR ภาพความละเอียด 4K ที่ 120Hz ยิ่งอาจทำให้เกมเมอร์หลายๆ คนต้องมีคิดหน้าคิดหลังกันบ้างล่ะก่อนจะตัดสินใจซื้อ
แต่หากใครไม่คิดมาก และพร้อมที่จะอยู่กับปัจจุบันและยินดีซื้อมาเพื่อใช้งานก่อนในตอนนี้ เจ้า Philips Hue Play HDMI Sync Box เองก็ถือว่าตอบโจทย์ทุกมาตรฐานระดับสูงในปัจจุบันนี้ได้หมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการรองรับภาพความละเอียด 4K ที่ 60Hz (สูงสุดตามมาตรฐาน HDMI 2.0b) ทั้งยังรองรับระบบภาพ Dolby Vision และ HDR10+ อีก พร้อมช่องเสียบ HDMI แบบ ARC จำนวน 1 พอร์ต (และ HDMI In อีก 4 พอร์ต) ให้ผู้ใช้งานไปดัดแปลงเซ็ตอัพการใช้งานกันได้ตามความเหมาะสม ไม่ว่าจะเอาไปต่อหลัง AVR หรือ Soundbar ของคุณ (โดยเสียง Dolby Atmos จะยังคงใช้งานได้ตามปกติหากเพื่อนๆ เซ็ตอัพลำโพงให้รองรับเอาไว้อยู่) หรือจะต่อตรงจากอุปกรณ์อย่าง PS4 และ Apple TV เข้าทีวีโดยผ่านมัน ก็สามารถทำได้หมดอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง
สุดท้ายคือโบนัสกับระบบไฟของ Philips Hue ที่รองรับการทำงานในส่วนของสมาร์ทโฮมได้อย่างครบครันในตัวมัน โดยสามารถใช้งานได้กับทั้งระบบ Siri บน iOS (Home App), Google Assistant ไปจนถึง Amazon Alexa ดังนั้นหากใครกำลังมองหาโอกาสในการเริ่มต้นอัพเกรดบ้านเป็นสมาร์ทโฮม การเลือกใช้ไฟและอุปกรณ์ในระบบ Hue จึงถือเป็นการเริ่มต้นขั้นแรกที่ดี เป็นของแถมให้ต่อยอดจากระบบ Bias Lighting แบบ Responsive ที่เราได้จากเจ้า Philips Hue Play HDMI Sync Box อีกด้วยนะ