รีวิวสมาร์ททีวี Sony 55W800C สมาร์ททีวีที่ฉลาดที่สุดในปัจจุปันด้วยระบบ AndroidTV และความสามารถของสมาร์ททีวีแบบครบครัน
สมาร์ทีวี คือทีวีที่มีความสามารถในการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ภายนอก เข้าสู่โลกออนไลน์ และอาจจะรวมถึงการใช้งานผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ ภายในตัวเครื่องตามแต่ระบบที่ทางผู้ผลิตเลือกนำมาใช้ครับ ซึ่งก็มีแต่ละเจ้าแตกต่างกันไป แต่ในตอนนี้หลายคนอาจจะรู้ดี ว่า Google ก็ได้พัฒนาระบบ Android TV ออกมาเพื่อการใช้งานบนอุปกรณ์สมาร์ททีวีด้วยเช่นกัน และมาพร้อมกับกองทัพแอพพลิเคชั่นชั้นนำที่เราคุ้นเคย เช่น Google PlayStore, Youtube, Music, แอพและเกมต่างๆจากระบบ Android ที่เราเคยใช้งาน แยกคัดสรรเฉพาะที่เหมาะสมกับการใช้งานบนหน้าจอทีวี และนั้นคือระบบที่ทาง Sony เลือกนำมาใช้ในอุปกรณ์สมาร์ททีวีรุ่น W800C นั้นเองครับ
การใช้งานของ Android TV จะไม่เหมือนกับจำพวก Android Box กล่องเชื่อมต่อเพิ่มที่วางขายๆ กันอยู่นะครับ เพราะ Android Box เป็นอุปกรณ์ที่ใช้งานระบบ Android ซึ่งดัดแปลงมาจากระบบของแท็บเล็ตหรือสมาร์ทโฟน แต่นำมาต่อเข้ากับจอภาพใหญ่ๆ เท่านั้น แต่กับ Android TV คือระบบที่ Google ออกแบบมาเพื่อใช้งานบนทีวีโดยเฉพาะเลยครับ ประสบการณ์การใช้งานเท่าที่ผมทดลองใช้มานี่ต่างกันไกลมาก สมกับเป็นระบบที่ออกแบบมาเพื่อทีวีโดยตรง โดยล่าสุดก็จะเป็นเวอร์ชั่น Android 5.0 เช่นเดียวกันกับเครื่องสมาร์ททโฟนและแท็บเล็ต Android เลยครับ
หน้า UI หรือหน้าการควบคุม จะออกแบบใหม่ให้ใช้งานได้โดยง่ายผ่านรีโมตทีวี หรือแอพพลิเคชั่นที่ทาง Google ได้ทำออกมาเพื่อควบคุมทีวีผ่านอุปกรณ์สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตของเราได้แบบลงตัวครับ ทำงานง่ายๆ แค่เพียง ขึ่นลง ซ้ายขวา และ กดเลือก (โดยมีแอพพลิเคชั่นพิเศษของทาง SONY ที่เป็นรีโมตรควบคุมชั้นสูง ซึ่งทำได้มากกว่าแอพพลิเคชั่นรีโมตของทาง Google และทำได้มากกว่ารีโมตทีวีที่ให้มาอีกด้วยครับ)
แอพพลิเคชั่นหลัๆ ที่เรานิยมใช้งานกัน ได้รับการออกแบบใหม่ เพื่อให้ใช้งานได้ง่ายมากๆ บนอุปกรณ์ทีวี ไม่ใช่แค่เอาแอพเดิมๆ จากในระบบแอนดรอยด์มาใช้ครับ เช่นแอพ Youtube สาวยงามและใช้งานได้ง่ายมากๆ และจากที่ผมได้ทดสอบใช้งานสมาร์ททีวีมาหลายระบบ บอกเลยว่า Android TV ทำงานได้ไวมากที่สุดแล้วครับ ไม่ต่างจากการกดใช้งานแอพในอุปกรณ์พกพา เรียกใช้แอพ แอพก็เปิดใช้งานได้ในทันที เป็นจุดสำคัญจุดแรกที่ผมยอมรับว่ามันเป็นประสบการณ์การใช้งานทีวียุคใหม่ที่สมบูรณ์กว่าระบบอื่นมากจริงๆ ครับ
มีการผสมผสานความเป็น Android และความเป็นสมาร์ททีวีไว้ตั้งแต่หน้าแรก แสดงสิ่งที่น่าสนใจ รายชื่อแอพพลิเคชั่น แหล่งสัญญาณเชื่อมต่อทีวี ทั้งแบบเสียบสาย และแบบเทคโนโลยีไร้สาย ไล่เรียงแล้วครบหมดในเทคโนโลยีเก่าใหม่ครับ เช่น AV, HDMI, MHL สำหรับต่อสมาร์ทโฟน, Miracast สำหรับการเชื่อมต่อภาพไร้สาย แถมยังรับสัญญาณทีวีได้ทั้งในระบบเก่าอนาล็อก และระบบสัญญาณทีวีดิจิตอลได้ในตัว จบครบทั้งออนไลน์ออฟไลน์ แบบไร้สายมีสาย ในด้านความเป็นทีวีก็พร้อมหมดทุกอย่างเช่นกันครับ
สเปคเครื่อง SONY 55W800C
-แอลอีดี ทีวีขนาด 55นิ้ว
-ความละเอียดหน้าจอ 2 ล้านพิกเซล (1920×1080)
-เทคโนโลยี Motionflow XR 800Hz. ให้ภาพเคลื่อนไหวราบรื่น ไม่กระตุก
-ระบบประมวลผลภาพ X-reality pro เพื่อความคมชัดที่เหนือกว่า พร้อมระบบลดสัญญาณรบกวน
-ระบบปฏิบัติการ Android TV (Lollipop)
-รองรับ Google cast
-ปกป้องทีวีจากความชื้น, ฟ้าผ่า และ การกระชากของไฟฟ้าด้วย X-protection pro
-แชร์ภาพ เพลง และ คลิบวีดีโอจากมือถือไปยังทีวีเพื่อดูและแบ่งปันให้เพื่อน (ยกเว้นเพลง) ด้วย Photo sharing plus
-มีตัวปรับปรุงคุณภาพเสียง DSEE ทำให้เพลิดเพลินกับเสียงเพลงด้วยคุณภาพเสียงที่ดีขึ้น
-ลำโพงBass Reflex Box Speaker ที่ให้คุณภาพและรายละเอียดของเสียงที่ชัดเจน
-เทคโนโลยี MHL การเชื่อมต่อมือถือกับทีวี
-รองรับ Digital TV (DVB –T2)
-ส่งหน้าจอมือถือของคุณไปยังทีวี Bravia เพื่ออรรถรสที่ดีกว่า ผ่านระบบ NFC เพียงแค่สัมผัสเดียวด้วย One touch mirroring (ต้องทำงานคู่กับ Remote พิเศษเพิ่มเติม)
-รองรับการแสดงผลภาพ 3DแบบActive สามารถแปลงสัญญาณภาพ 2D เป็น 3D ได้
-อินเตอร์เน็ตทีวีเช่น YouTube, Facebook, Twitter, Web browser, Application ฯลฯ พร้อม Built-in Wireless LAN
-ความจุภายใน 16 GB (พื้นที่บางส่วนอาจถูกใช้งานเพื่อข้อมูลในส่วนของระบบปฏิบัติการ)
-ช่องต่อ HDMI x 4 , Component x 1, Composite x 2, USB x 2
-ขนาดตัวเครื่อง 1230x715x61 มม. น้ำหนัก 17 กก.
ทาง SONY เองก็มีการใส่แอพพิลเคชั่นสำคัญๆ ของตัวเขาเองเข้ามาในทีวีนี้ด้วยเช่นกันครับ เหมือนกันกับทางสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตของ SONY ที่จะใส่ความสามารถที่พัฒนามาเองเข้าไปในระบบ โดยความสามารถที่เด่นๆ ก็มีตัวเล่นหนัง เพลง และภาพ ซึ่งเป็นสามแอพพลิเคชั่นหลักที่จะใช้ในการเล่นสื่อจากแหล่งข้อมูลของเราเอง เช่น USB FlashDrive หรือฮาร์ดดิสที่เราเสียบผ่านวาย USB ได้จากด้านหลังเครื่อง หรือจะเล่นผ่านระบบเครือข่ายภายในบ้าน ก็ได้เช่นกันครับ
หน้าตาแอพพลิเคชั่น สวยมากครับ ขอบอก
ส่วนการเล่นกับสื่ออื่นๆ ที่เป็นลักษณะออนไลน์หรือ Cloud Storage ของทาง Google ก็มีแอพพลิเคชั่นให้ใช้เช่นกันนะครับ ไม่ว่าจะเป็นการเช่าหนังหรือสื่อภาพยนต์จากทาง Google Playstore และพื้นที่จัดเก็บข้อมูลภาพและเพลง ก็มีแอพที่ดึงฐานข้อมูลเราจากที่เคยใช้งานในอุปกรณ์ Android อื่นๆ มาทำงานได้บนทีวี SONY ตัวนี้เช่นกันครับ แอพพลิเคชั่นแต่ละตัวก็ออกแบบมาเพื่อการใช้งานบนทีวีจริงๆ และอย่างที่ผมบยอกด้านบน สิ่งพิเศษคือประสบการณ์การใช้งานมันครับ ไหลลื่นและไม่รู้สึกว่าเป็นการทำงานบนทีวีเลย เพราะมันไวมาก
ทดสอบการเชื่อมต่อภาพจากสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต ส่งขึ้นจอทีวี ตัวทีวีของ SONY รองรับการเชื่อมต่อทั้งแบบไร้สายและเสียบสายครับ โดยเฉพาะพอร์ตการเชื่อมต่อแบบ MHL ที่เป็นระบบที่ออกกแบบมาเพื่อการใช้งานร่วมกับสมาร์ทโฟน Android โดยเฉพาะเลยละครับ ในอุปกรณ์สมาร์ทโฟนที่รองรับ MHL เราจะสามารถนำสาย MHL มาเสียบต่อภาพขึ้นทีวีได้ทันทีโดยสายชนิดนี้จะมีความพิเศษกว่าการเชื่อมต่อแบบ HDMI ปกติ เพราะมันมีไฟเลี้ยงในตัวเอง สมาร์ทโฟนทืเชื่อมต่อกันอยู่ จะได้รับการชาร์จพลังงานได้ด้วยในตัวครับ
และที่สะดวกกว่า คือการเชื่อมต่อสมาร์ทโฟน Android ผ่านระบบ Google Cast หรือ Miracast ที่เป็นการเชื่อมต่อแบบไร้สาย ทีวี SONY ตัวนี้มีรองรับทั้งหมดครับ และมีการแนะนำในการใช้งานเบื้องต้น เชื่อมต่อได้ไม่ยากครับ ผมทดสอบแล้วก็ทำได้ง่ายดี ภาพจากหน้าจอโทรศัพท์เราก็จะไปแสดงบนหน้าจอทีวีไดเแล้วครับ จะใช้ทำอะไรก็แล้วแต่เราเลยครับ
มีฟังชั่นสนุกๆ ที่ใช้งานร่วมกันกับสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตได้อีกหลายตัว แต่มีตัวที่ผมสนใจ เป็นฟังชั่นที่น่าจะนำมาใช้กันในกลุ่มเพื่อน หรือจะประยุกต์ใช้ในการทำงานด้วยก็ได้ เป็นฟังชั่นที่ชื่อ Photo sharing plus ไม่ไช่แต่การแชร์ภาพตามชื่อนะครับ แต่มันมีความสามารถในการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ทั้งระบบ Android และ iOS ได้ถึง 10 อุปกรณ์ด้วยกัน เพื่อให้อุปกรณ์เหล่านั้น ส่งภาพ, วีดีโอ รวมทั้งเพลง ให้ขึ้นไปแสดงร่วมกันบนหน้าจอทีวีได้ครับ เป็นการแสดงภาพจากอุปกรณ์ต่างๆ ที่ส่งเข้ามา พร้อมๆ กับเล่นเพลงไปพร้อมๆ กัน สามารถนำไปใช้กันในกลุ่มหลังได้ภาพถ่ายจากทริปท่องเที่ยงครั้งล่าสุด หรือจะนำมาใช้ในการประชุมงานก็ได้นะครับ ฟังชั่นนี้มีติดตั้งมาในเครื่องตั้งแต่แรกเริ่มเลย
สำหรับการใช้งานในความสามารถด้านอื่นๆ เราก็สามารถติดตั้งแอพพลิเคชั่นเพิ่มเติมได้จากใน PlayStore ของเครื่องได้เลยครับ โดยสามารถใช้ไอดี Gmail เดิมของเราที่ใช้งานบนสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต Android มาใช้ได้เลยไม่ต้องสมัครใหม่ ข้อมูลหรือแอพพลิเคชั่นใดที่เราเคยซื้อไว้ก็สามารถนำมาใช้ได้บน SONY Android TV ตัวนี้ได้เหมือนกันถ้าแอพพลิเคชั่นนั้นรองรับการทำงานบน Android TV นะครับ
กดติดตั้ง ซื้อ ได้ไม่ต่างจาก Android ระบบอื่นๆ
Play Store ใน SONY Android TV ที่ผมเห็นมีความชัดเจนมากในการแบ่งแยกประเภทของแอพพลิเคชั่นครับ โดยเฉพาะเกม!
ประเภทของเกมนั้นนอกจากจะแยกตามแนวการเล่นแล้ว ยังแยกให้เราอีกด้วยว่า เป็นเกมที่เหมาะสมกับการควบคุมผ่านรีโมตทีวีหรือเหมาะกับเล่นผ่านการควบคุมโดยเกมแพด ซึ่งอย่าลืมว่า ทีวีไม่ใช่่สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต การควบคุมหลักไม่ใช่การทัชสกรีนหรือการถือเครื่องทีวีไว้ในมือ แต่เป็นการควบคุมผ่านอุปกรณ์อื่นๆ อย่างรีโมตหรือจอยเกมครับ
และความแตกต่างนี้ก็เป็นสิ่งที่ Android TV มีดีกว่าระบบ Android ทั่วๆ ไปที่นำมาต่อขึ้นจอผ่านทีวี เพราะเกมต่างๆ ออกแบบมาใหม่ในการควบคุมหรือเป็นเกมที่ทาง Google คัดแล้วว่าเหมาะกับการเล่นบนทีวีจริงๆ
ทดสอบการเชื่อมต่อจอยควบคุมเกมแบบไร้สาย (หาซื้อได้ตั้งแต่หลักไม่กี่ร้อยบาท ถึงประมาณพันกว่าบาทสำหรับจอยคุณภาพดี) เสียบตัวรับสัญญาณเข้ากับพอร์ต USB ด้านหลังเครื่อง ก็พร้อมแล้วครับสำหรับเปลี่ยน SONY Android TV 55W800C ตัวนี้ให้กลายเป็นเครื่องเล่นเกมสมบูรณ์แบบ
ควบคุมได้เข้ากันทั้งหมด เพราะตัวเกมแต่ละเกมออกแบบมาเพื่อใช้งานกับเกมแพดโดยตรง
สำหรับเกมที่ออกแบบมาเพื่อการใช้งานกับรีโมตทีวีก็มีการแยกไว้ให้ชัดเจนเช่นกัน ภาพชัด จอใหญ่ๆ เล่นกันง่ายๆ ไม่ต้องใช้อุปกรณ์อะไรเพิ่มเติมอีกครับ
และอย่าลืม ด้วยความเป็นทีวีที่มาพร้อมกับระบบ Android นั้นหมายถึงมันก็คือเครื่องคอมพ์พิวเตอร์เครื่องหนึ่งนั้นเอง นอกจากจะกลายร่างเป็นเครื่องเล่นเกมได้แล้ว เราก็สามารถใช้งานมันเป็นคอมพิวเตอร์สำหรับการเข้าเว็บไซด์ เล่น Facebook, Twitter ได้ด้วยครับ โดยเชื่อมต่อเมาท์และคีย์บอร์ดภายนอกได้เลย รองรับทั้งแบบเสียบสาย USB, Wireless และแบบเชื่อมต่อผ่านสัญญาณ Bluetooth ครับ
สำหรับเครื่อง SONY Android TV 55W800C เป็นทีวีที่มีความสามารถในการเล่นภาพยนต์ 3D นะครับ และสามารถทำภาพยนต์ที่กำลังเล่นจากระบบ 2D ให้เป็น 3D ได้ด้วยตัวเองครับ
ความคมชัดของภาพนั้นเป็นระดับ FullHD ที่น่าจะเพียงพอในการเล่นไฟล์หนังที่เป็นมาตรฐานนิยมในปัจจุปัน จริงๆ แล้วทาง SONY มีทำออกมาหลายรุ่นหลายขนาดครับ มีตัวที่เป็นหน้าจอความละเอียดระดับ 4K ออกมาด้วย แต่ราคาก็จะสูงตามไปเช่นกัน
สำหรับตัว SONY Android TV 55W800C ที่นำมารีวิวอยู่นั้น เป็นตัวหน้าจอ FullHD รองรับ 3D หน้าจอขนาด 55นิ้ว ซึ่งผมก็ถือว่ามันชัดมากแล้วในระยะการรับชมประมาณ 2เมตรห่างจากหน้าจอทีวี โดยเฉพาะถ้าไฟล์ภาพยนต์หรือวีด๊โอที่เรารับชมอยู่ ไม่ได้เป็นไฟล์ความละเอียดที่สูงไปกว่า FullHD เท่านี้ก็น่าจะเพียงพอครับ ราคาก็จะถูกกว่าด้วย Motionflow XR 800Hz ก็ทำให้ภาพที่ออกแบบราบลื่นไม่สะดุดลูกตา ดูหนังสนุกดีทีเดียวครับ
ระบบเสียง ClearAudio+ ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ต้องชมว่าทำออกมาได้ดีครับ เสียงดี ซาวน์กว้าง ใส แต่ลูกหนักยังไม่เด่นนักนะครับ สำหรับคนที่ไม่มีชุดเครื่องเสียงจริงๆ แล้วก็อาจจะเพียงพอในการใช้งานรับชมรับฟังภายในบ้านได้แล้ว เสียงออกมาดีใช้ได้เลยครับ
การควบคุม
สำหรับการควบคุมทีวีนอกจากผ่านอุปกรณ์รีโมตและชุดควบคุมด้านหลังตัวเครื่องแล้ว ทาง SONY จะมีรีโมตแบบพิเศษ One Flick Remote ที่ขายแยกอยู่อีกด้วยครับ อันเล็กๆ แต่ความสามารถเพียบ มีไมค์โครโฟนในตัว พร้อมใช้งานกับคำสั่งเสียงที่รองรับ 42 ภาษาทั่วโลกรวมทั้งภาษาไทย จะค้นหาอะไรก็แต่กดปุ่มรูปไมค์แล้วพูดครับ ลองใช้งานแล้วทั้งในภาษาไทยและภาษาอังกฤษ รับคำสั่งได้แม่นตามมาตรฐานของ Google ภาษาไทยไม่มีปัญหา ส่วนภาษาอังกฤษสำเนียงไทยๆ อย่างผม ตัวเครื่องก็ยังแยกแยะได้อยู่ครับ
หน้าทัชสกรีนบนรีโมต One Flick Remote ใช้สำหรับเลื่อนหน้าขึ้นลง ซ้ายขวา ตามการสไลด์นิ้ว มีปุ่มย้อนกลับและกลับหน้าโฮม ปุ่มปรับระดับเสียงและปุ่มเปลี่ยนช่อง พร้อม Gesture การสไลด์นิ้วจากด้านบนลงมาเพื่อเปิดการตั้งค่า และการสไลด์นิ้วขึ้นไปเพื่อเข้าแชนเนลด่วนที่เราตั้งค่าไว้ได้ครับ
รองรับระบบ NFC เพื่อใช้เชื่อมต่อแบบด่วนกับสมาร์ทโฟนที่รองรับ NFC เช่นกัน
สำหรับในกรณีเราไม่มีรีโทต One Flick Remote เราก็สามารถใช้สมาร์ทโฟนในการดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น Quick remote:TV SideView Sony มาใช้งานแทนได้ด้วยนะครับ โดยจะมีทั้งในระบบ Android และ iOS จากที่ผมดาวน์โหลดมาใช้งานดูแล้ว ในแอพพลิเคชั่นนี้แหละครับที่มีความสามารถมากที่สุด ใช้งานได้ทั้งแบบรีโหมตทั้วไป เป็นพอยเตอร์เมาท์ เป็นคีย์บอร์ดให้กับทีวี มีความสามารถครบหมดในแอพฟรีจาก SONY ตัวนี้ครับ
ติดตั้งแล้วเชื่อมต่อกับทีวีผ่านรหัสที่แสดงบนหน้าจอ
สรุปท้ายรีวิว
ไม่ใช่แค่ทำได้ แต่เป็นสมาร์ททีวีที่ทำได้ดี SONY Android TV 55W800C ได้เปรียบสมาร์ททีวีระบบอื่นๆ ด้วยความเป็น Android TV เป็นอย่างมาก ทั้งความเป็นสากลและความพร้อมของแอพพลิเคชั่น ประสบการณ์การใช้งานทีลื่นไหลและสวยงามกว่า ผสมกับความเป็น SONY ที่ใส่ความพร้อมของทีวีเข้าไปอย่างครบ ทั้งการเชื่อมต่อแบบมีสายและไร้สาย ความสามารถพิเศษของฟังชั่นและแอพพลิเคชั่นต่างๆ การใช้งานร่วมกันกับอุปกรณ์ภายนอก ครบที่สุด โดยเฉพาะผู้ที่มีสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตใช้งานอยู่ในปัจจุปัน นี่เป็นทีวีที่มีระบบที่น่าจะสนุกที่สุดสำหรับพวกเราในตอนนี้ครับ