รีวิว ทดสอบใช้งาน Lenovo P780 สมาร์ทโฟนแอนดรอยด์เพื่อการติดต่อสื่อสาร และการใช้งานที่ไม่ขาดช่วง จากเครื่องที่มาพร้อมกับแบตเตอรี่ขนาด 4000 mAh และฟังชั่นที่น่าสนใจรอบตัว
สวัสดีครับผม Appdisqus รีวิวอีกแล้ว ^^ ก็ขอจับเอาเจ้าเครื่องสมาร์ทโฟนตัวที่น่าสนใจอีกหนึ่งตัวในตลาดแอนดรอยด์ตอนนี้ มาทดสอบใช้งานเพื่อเป็นข้อมูลให้เพื่อนๆกันอีกแล้ว กับ Lenovo P780
หลายคนอาจจะรู้จักมันกันดี (บางคนอาจจะยังไม่รู้นะ ^^) สมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ตัวนี้ P780 ของ Lenovo มีความโดดเด่นมากๆ ในเรื่องของขนาดความจุแบตเตอรี่ครับ นั้นก็เพราะมันมากับแบตที่มีขนาดความจุสูงถึง 4,000 mAh เลยทีเดียว
และนั้นก็ไม่ใช่จุุดขายเดียว เพราะสิ่งที่ทำให้ชื่อของแบรนด์ Lenovo เกิดมาได้ในตลาดแอนดรอยด์ นั้นก็คือ “การทำการบ้านมาดี” เป็นเด็กเรียนนั้นเอง ^^ ในช่วงต้นที่ Lenovo เปิดตัวมา ก็ออกมาพร้อมทั้งในเรื่องของการกำหนดราคาที่ค่อนข้างน่าสนใจ จุดเด่นของตัวสินค้าชัดเจน เกรดวัสดุดี และ ฟังชั่นพร้อมคุณภาพด้านซอฟแวร์ก็ไม่ธรรมดาเช่นกันครับ
ตัวเครื่องภายนอก
Lenovo ยังคงเลือกใช้วัสดุค่อนข้างมีเกรด นำมาในรุ่นราคาระดับตลาดกลางอย่าง Lenovo P780 ฝาหลังเป็นโลหะปั๊มโลโก้นูนกลึงลาย การประกอบแน่นหนา วัสดุที่เหลือเป็นเนื้อพลาสติกหนา เหนียว ผิวแข็ง ตัดขอบและปุ่มปรับเสียงด้วยสีเงิน
ด้านหน้าดูงานประกอบแน่นมากกว่าด้านหลังขึ้นไปอีก หน้าจอขนาด 5 นิ้ว พร้อมปุ่มทัชสกรีนที่ยังคงใช้สัญลักษณ์ Lotus หรือกลีบบัวเป็นปุ่มโฮม ลำโพงสนทนาทำลึกลงไปอีกชั้น พร้อมไฟเตือน Led ซ่อนไว้ใต้ลำโพง โลโก้ Lenovo และกล้องหน้าระดับความละเอียด VGA ชอบขอบเครื่องที่โค้งหุ่มมาด้านหน้าเล็กน้อย เพื่อปกป้องริมกระจกซึ่งเป็นจุดเปราะปรางแตกปิ่นได้ง่ายครับ
สันเครื่องเก็บงานมาเรียบร้อย ช่องเสียบสายชาร์จ Micro USB พร้อมรองรับการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ภายนอกเช่นเมาท์ คีบอร์ดผ่านสายแปลง OTP มีฝาปิดกันฝุ่่น พอร์ตเชื่อมต่อสายหูฟังทำขอบสวยงามครับ
เปิดฝาหลังเห็นช่องใส่ Micro SD card และช่องใส่ซิมสองสล็อต รองรับสองซิมนั้นเองครับ ใช้ซิมขนาดปกติ และสังเกตจะเห็นข้อความระบุ หนึ่งซิมรองรับ 3G และหนึ่งซิมรองรับ 2G ครับ มีปุ่มรีเซ็ตแล้วอนาล็อคอยู่ตรงนี้มาให้ด้วย
แบตเตอรี่ถอดเปลี่ยนไม่ได้ แต่ที่นอนหมอบสงบนิ่งอยู่ภายในคือขุมพลังขนาด 4,000 mAh ครับ เหลือเกินพอในการใช้งานจากเช้าจนมืด ยิ่งถ้าใช้งานแบบปกติทั่วๆไป อาจจะได้สบายๆ สองถึงสามวัน
[divider]
Specification
- หน่วยประมวลผล Quad Core Cortex-A7 1.2 กิกกะเฮิรตซ์
- แรม 1 GB
- จอแสดงผล 5 นิ้ว IPS 1280×720 (320 dpi)
- หน่วยความจำในเครื่อง 4GB รองรับ Micro SD card สูงสุด 32GB
- Android 4.2.1
- สองซิม WCDMA 900 / 2100 MHz
- กล้องหลังความละเอียด 8 ล้านพิกเซล กล้องหน้า VGA
- แบตเตอรี่ขนาด 4,000 mAh (แสดนด์บายนาน 35 วัน สนทนาต่อเนื่อง 43 ชั่วโมง)
- Micro USB OTG
- บาง 9.95 มิลลิเมตร หนัก 176 กรัม
การใช้งานภายใน
หลังจากผมทดสอบใช้งานมาก็รู้สึกได้ว่า Lenovo ใส่รายละเอียดไว้ภายในเยอะมากครับ นับตั้งแต่ฟังชั่นเด็ดๆที่น่าสนใจและบางตัวมีประโยชน์มากในการใช้งาน รวมไปถึงรายละเอียดเพื่อความสวยงามเล็กๆน้อยๆ
เราจะเริ่มกันที่หน้าการใช้งานหน้าแรกกันก่อนครับ ^^
หน้า UI ของตัว P780 จะใช้เป็น Lenovo Launcher เป็นหน้า UI ที่มีความสามารถเยอะลูกเล่นเพียบเลยละครับ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนธีม การปรับแต่งรูปแบบเลื่อนหน้าในอนิเมชั่นต่างๆ รวมถึงการปรับรายละเอียดหลายอย่างได้ในหน้าตาการแสดงผล เรียกว่า เอาเฉพาะการแต่งหน้าการใช้งาน ก็มีการตั้งค่ามาให้คุณเลือกได้เป็นหน้าๆเลยละครับ
ความลื่นไหลหน้าโฮมอยู่ในเกณฑ์ดีมากครับ Widget ที่ทาง Lenovo เตรียมไว้ให้ก็สวยงามดีทีเดียว เด่นๆก็จะมี Widget ในการจัดสรรพลังงาน ที่จะแสดงการประมาณการชั่วโมงใช้งานที่เหลือให้เราได้ด้วย
Widget ดอกบัวหรือสัญลักษณ์ Lotus ของทาง Lenovo ที่จะตั้งค่าการเลือกใช้แอพพลิเคชั่นสำคัญได้สี่ตัวด้วยกันครับ
ในส่วนของ Notify page เราจะเห็นว่ามี Toggle เปิดปิดการใช้งานต่างๆของเครื่อง และสลับหน้าซ้ายขวาเพื่อเข้าไปเปลี่ยนโปรไฟล์ และเข้าสู่ฟังชั่น “พลังงานอัจฉริยะ”
แอพพลิเคชั่นเฉพาะของทาง Lenovo P780 ดูแล้วจะเน้นไปทางบิสซิเนสอยู่พอสมควรครับ เพราะนอกจากจะออกแบบเครื่องมาให้มีระยะเวลาในการใช้งานได้ยาวนานซึ่งเหมาะสมกับการติดต่อธุรกิจแล้ว ยังมีแอพพลิเคชั่นที่เหมาะสมกับการทำงานอย่าง Camcard การแสกนนามบัตรและสามารถจัดเก็บเข้าร่วมกับรายชื่อภายในเครื่องได้ โดยแอพพลิเคชั่น Camcard จะมีความฉลาดในการแสกนชื่อ ที่อยู่ และหมายเลขโทรศัพท์บนบัตรได้ด้วยตัวมันเองด้วยครับ พร้อมปรับความคมชัดในภาพนามบัตรที่แสกนไว้ แยกจัดเก็บได้เป็นหมวดหมู่และบันทึกไว้ในรูปแบบข้อมูลออนไลน์ได้ครับ ไม่สูญหายง่ายๆ และเรียกดูได้ผ่านหลากหลายอุปกรณ์
พร้อมแอพพลิเคชั่นจัดการไฟล์ออฟฟิต การบันทึกนัดหมาย การบันทึกสิง่ที่ต้องทำ ติดตั้งแอพพลิเคชั่นเหล่านี้มาให้ตั้งแต่โรงงานเลยครับ
การสำรองข้อมูลลง SD Card แบบออฟไลน์ได้ด้วยตัวเครื่องเอง จะจัดเก็บทั้งรายชื่อติดต่อ ข้อความ บันทึกการโทร รวมถึงแอพพลิเคชั่นที่ติดตั้งเอาไว้ในเครื่อง ไม่ต้องอาศัยเครื่อง PC หรือ โน๊ตบุ๊คเพื่อจัดเก็บให้วุ่นวายครับ
การตั้งค่า Wi-Fi แบบผูกตำแหน่ง ให้เครื่องตรวจจับว่าเราอยู่ในตำแหน่งพื้นที่ใด เพิ่มให้เครื่องเปิดการใช้งาน Wi-Fi ได้ถูกที่ถูกเวลาโดยอัตโนมัติ
การตั้งค่าแถบการแจ้งเตือนที่เรากำหนดเองได้ว่า จะให้หรือไม่ให้แอพพลิเคชั่นตัวไหนโผล่มาแจ้งเตือนบ้าง นี่ก็เป็นอีกหนึ่งฟังชั่นที่หาได้น้อยเครื่องครับ
การแชร์สัญญาณ Internet 3G ที่ทำได้ทั้งผ่าน WI-Fi ผ่านบลูทูธและผ่านสาย USB รูปแบบการใช้งานทำมาได้เข้าใจง่าย พร้อมคำอธิบายและแยกการเรียกใช้งานออกมาต่างหากชัดเจนครับ ในไอคอนที่ชื่อ “จุดบริการส่วนตัว”
มีแอพพลิเคชั่นนำทาง Route 66 มาให้ทดลองใช้ครับ
ฟังชั่นที่ใช้เซ็นเซอร์ต่างๆ เช่นการเพิ่มเสียงเรียกเข้าให้ดังกว่าเดิมเมื่อตรวจจับว่าเครื่องอยู่ในที่มือับเช่นในกระเป๋าหรือโต๊ะทำงาน และหรีเสียงเรียกเข้าให้เบาลงเมื่อเครื่องถูกหยิบขึ้นมา รับสายได้โดยอัตโนมัติเมื่อยกโทรศัพท์ขึ้นข้างหูครับ
สามารถย้ายแอพพลิเคชั่นไปติดตั้งไว้ใน Micro SD card ได้ พร้อมทั้งตั้งค่าพื้นฐานในการจัดเก็บได้ล่วงหน้าด้วยครับ ว่าเราจะให้ติดตั้งแอพลงเมมโมรี่เครื่อง หรือลงเมมโมรี่ภายนอกเลย ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งไว้ก่อนจะติดตั้งแอพนะครับ
ระบบอัลบั้มภาพที่ยิ่งกว่าแค่ใช้เปิดภาพ เพราะเป็น “Super Gallery” ^^ ไม่ใช่แต่จะไว่ใช้แสดงภาพในเครื่องเพียงอย่างเดียวครับ มันมีความสามารถในการสร้างภาพแบบตาราง Grid หรือแบบจิ๊กซอร์ได้ด้วย
สามารถเลือกให้แสดงภาพเรียงกันตามวันเวลา เรียงตามโฟลเดอร์ หรือเรียงตามสถานที่ๆเราทำการบันทึกภาพมาก็ได้เช่นกันครับ ยังมีความสามารถในการสร้างภาพไฟล์ Gif ในตัวเองอีกด้วย ตกลงมันไม่ใช่แกลลอรี่แล้วละ ^^
มีการตั้งค่า กรองการแสดงผลไฟล์ภาพเยอะแยะละเอียดยิบเลยครับ ปรับแต่งให้สะใจคอแอนดรอยด์กันไปเลย ^^
คู่มือการใช้งานมีให้มาเป็นแอพพลิเคชั่นเลย ภาษาไทยอ่านง่ายชัดเจน เพื่อนคู่ใจผู้ใช้งานมือใหม่ครับ
แต่แรกเริ่มมา หน้าแรกจะมี Widget ตัวหนึ่ง ที่ชื่อว่า Cleaner หรือตัวเคลียแรมเครื่องนั้นเองครับ ผมว่ายังจำเป็นต้องใช้สำหรับ P780 เพราะมันยังจัดการเรื่องแรมได้ไม่เนียบ ต้องกดเคลียบ้างในบางครั้ง ถ้าเราเห็น Widget Cleaner น้ำใกล้เต็มและเริ่มจะเปลี่ยนเป็นบอลสีแดงก็กดได้เลยครับ
เราสามารถเข้าไปกำหนดค่าของตัว Cleaner ได้ว่า ให้เว้นการเคลียแอพพลิเคชั่นสำคัญตัวใดได้ด้วยนะครับ
[quote]การจัดสรรพลังงาน และแบตเตอรี่ขนาดมโหฬาร ทำให้ P780 เป็นเครื่องที่เราคาดหวังในเรื่องระยะเวลาการใช้งานได้อย่างเต็มที่[/quote]
เรื่องนี้สำหรับ Lenovo เน้นมาก โดยเฉพาะเจ้า P780 ฟังชั่นการประหยัดพลังงาน และการจัดสรรพลังงาน จัดมาเต็มที่เลยครับ มีโปรไฟล์การใช้พลังงานในรูปต่างๆ ให้เราเลือกใช้ อยากประหยัดหรือยืดอายุแบตมากแค่ไหนเลือกเอาครับ
และฟังชั่น “พลังงานอัจฉริยะ” ที่ครบครันในเรื่องข้อมูลการใช้พลังงานของเครื่องมากๆครับ แจกแจงแอพพลิเคชั้่นใดใช้พลังงานไปมากน้อยอย่างไร หรือฮาร์ดแวร์ในส่วนใดใช้พลังงานไปเท่าไหร่ และเราสามารถใช้งานเครื่องได้อีกนานแค่ไหน ใช้ทำอะไรได้อีกกี่นาที กี่ชั่วโมง ฟังชั่นนี้สามารถบอกทุกอย่างที่คุณอยากรู้(และไม่อยากรู้) ได้ทั้งหมดเลยครับ
การตั้งค่าเกี่ยวกับพลังงานอีกหนึ่งหน้าเต็มๆ ทั้งลูกเล่นและสิ่งที่เราควบคุมได้
มีลูกเล่นให้เลือกเปิดปิดแสดงผลมากมาย เช่นสถานะแบตเตอรี่บน Status Bar ทำมาน่ารักเชียว ^^
ทดสอบการตรวจจับตำแหน่ง GPS สามารถจับตำแหน่งได้ไว โดยเฉพาะเมื่อเปิดใช้ A-Gps หรือใช้สัญญาณเน็ตเข้าช่วย จะยิ่งไวมากครับ
ผลคะแนนทดสอบต่างๆของ Lenovo P780
โทรศัพท์และการสนทนา
ที่ทดสอบใช้งานมา รับสัญญาณดี ยังไม่มีงอแง Lenovo P780 เป็นเครื่องที่รองรับการใช้งานสองซิมการ์ด แต่รองรับ 3G เพียงซิมเดียว อีกซิมรองรับแค่ 2G เท่านั้น อันนี้ต้องสลับช่องใส่ซิมถ้าเกิดกรณีต้องการเปิดสลับ 3G ใช้งาน
และ 3G ที่เครื่องรองรับก็มีแค่สองความถี่นั้นก็คือ 900และ 2100 ไม่รองรับความถี่ 850 MHz ที่เป็นของ True และ Dtac ครับ ทำให้เกิดข้อจำกัดค่อนข้างกว้างเลยทีเดียวจุดนี้ ต้องอาศัยรับคลื่นสัญญาณใหม่ของ True กับ Dtac ที่เป็น 2100 MHz เพียงอย่างเดียว ซึ่งไม่ครอบคลุมเท่าที่ควร แต่จะเหมาะสุดๆ สำหรับผู้ใช้เครือข่าย AIS ครับ
การดีไซน์ขอบเครื่องด้านบนหลบมุม ทำให้สนทนาได้นานๆไม่กดทับใบหู ลำโพงสนทนาดังชัดเจน แบตเตอรี่ยาวนานแบบสุดๆ เขาว่าแสดนด์บายนาน 35 วัน สนทนาต่อเนื่อง 43 ชั่วโมง ขี้เกียจนับครับ แต่ใช้กันข้ามวันข้ามคืนแน่นอน
การแสดงผล
จอ 5 นิ้ว 720P ไม่ถึงระดับขั้นเครื่องตัวท็อบระบบ Full HD แต่ความละเอียด 320 dpi เท่านี้ก็ไม่ขี้เหร่แล้วครับ และเป็นจอคุณภาพดี มุมมองกว้าง แสงสีดี เป็นจอ IPS
ประสิทธิภาพการเล่นไฟล์วีดีโอได้ถึง Full HD แบบลื่นๆครับ เข้าเว็บเพจแสดงผลตัวหนังสือ 320 dpi มันคมชัดเจนเกินพออยู่แล้ว สไลด์หน้าเว็บลื่นไหลมาก ทดสอบกับเว็บ Appdisqus.com ในโหมดเดสท็อบ ปลักอินเพียบ ก็ยังไม่รู้สึกครับ ^^ไหวๆสบายๆ
การทำงานด้านเสียง
ลำโพงของตัว Lenovo P780 ออกแนวใส แหลม เปิดสุดเสียงไม่แตกครับ การออกแบบตำแหน่งลำโพงทำได้ดี วางคว่ำหรือวางหงายเสียงแทบไม่เปลี่ยนแปลงครับ วางบนพื้นราบลำโพงไม่โดนกดทับ ส่วนระดับความดังของเสียงปกติๆ ไม่ดังไม่ค่อย
เสียดายเราไม่ได้หูฟังของตัวเครื่องเองมาทดสอบ แต่ใช้หูฟังของผมเองทดสอบก็อยู่ในระดับใช้ได้ครับ แต่เรื่องแบบนี้ มันอยู่ที่หูฟังซะเป็นส่วนใหญ่อะนะ บอกอะไรไม่ได้
ทดสอบการเล่นเกม
สบายๆครับ Lenovo P780 สมารถเล่นได้ลื่นๆสบายๆ เกม HD ไม่มีปัญหา มินิเกมไม่ต้องพูดถึง สอบผ่านครับ ทดสอบกับเกมตัวเกมเดโมที่่มีมาให้ในเครื่องก็ได้นะครับ ถ้าใครจะลองเครื่องหน้าช็อบ ^^
การถ่ายภาพ
เป็นหัวข้อที่ผมอยากพูดถึงมากที่สุดใน P780 แต่กล้องหน้า VGA ไม่อยากพูดถึง ให้มาน้อยไป เอาไว้แค่วีดีโอคอลกับถ่ายภพาหน้าตัวเองนิดๆหน่อยๆ กว่านั้นอย่าไปหวัง
แต่กล้องหลังผมประทับใจ ความละเอียด 8 ล้านพิกเซลใหญ่เกินพอแล้ว คุณภาพที่ได้ถือว่าเกินคาดครับ ไวท์บาลานซ์ทำได้ดีแม้จะถ่ายในที่ร่มหรือในอาคาร โฟกัสแม่น แต่การบันทึกภาพไม่ไวเท่าไหร่ ผมอาจจะชินกับพวก Zero Lag Shutter ไปแล้ว แต่ผลงานตัวภาพน่าพอใจครับ
สิ่งที่โดดเด่นเป็นพิเศษก็คือ เอฟเฟ็กต์การถ่ายภาพและฟิลเตอร์ เยอะมากจริงๆครับ มีความฉลาดและตรวจจับวัตถุได้ดีในการใช้เอฟเฟ็กขณะถ่ายด้วย
ฟิลเตอร์ถ่ายแบบผ่านบล็อคแก้ว และเอฟเฟ็กต์รัศมีดาว เก๋ดี ^^
หน้าตาเวลาใช้งาน ออกแบบดูดีทุกฟังชั่นครับ
ตัวอย่างภาพถ่ายของ Lenovo P780
Click เพื่อดูภาพใหญ่
สรุปท้ายรีวิว
Lenovo P780 หลายคนอาจจะมองความโดดเด่นในเรื่องของแบตเตอรี่ขนาด 4000 mAh แต่มองให้ดีจะเห็นความเอาใจใส่ในรายละเอียดการใช้งานภายในหลายจุดมากครับ โดยรวมก็เป็นเครื่องแอนดรอยด์ที่แบตอึด เครื่องสวย วัสดุดี ลูกเล่นเยอะฟังชั่นเพียบ สองซิม กล้องหลังคุณภาพน่าพอใจ แอพพลิเคชั่นใช้งานหลากหลายทั้งในเรื่องเอนเตอร์เทนเม้นต์และการใช้งานในเชิงธุรกิจ
รวมกับน้ำหนักและความบางของตัวเครื่องที่มีแบตเตอรี่มาให้เยอะขนาดนี้ จึงเป็นเครื่องที่เราขอแนะนำอีกเครื่องหนึ่งสำหรับแอนดรอยด์ในระดับตลาดกลางขณะนี้ครับ
[gradeA]