The Last of Us Part 1 การกลับมาใหม่บน PlayStation 5 ของปฐมบทเกมในตำนาน
The last of Us Part 1 Rebuilt นี้คือเหล้าเก่าในขวดใหม่ ที่ไม่ได้เปลี่ยนเพียงแค่ขวดของมัน แต่ยังสั่งสมเวลาในการหมักให้นานขึ้น เพิ่มรสชาติให้จัดจ้านขึ้นจากงานภาพและสีหน้าท่าทางของตัวละครที่ถูกสร้างใหม่แบบยกชุดจากความตั้งใจของทีมงานผู้ให้กำเนิด The Last of Us ปฏิเสธไม่ได้เลยว่านี่คือ The Last of Us ในเวอร์ชั่นที่สมบูรณ์และคู่ควรที่สุดที่เกมยอดเยี่ยมเกมนี้จะเป็น และเป็นการตัดสินใจเอาของเก่ามาทำใหม่ของสตูอิโอ Naughty Dog และ Sony Entertiament ที่ไม่มีอะไรให้ต้องเสียดายเลยแม้แต่น้อย…นี่คือ The Last of Us ที่จะเป็นตำนานต่อไปในคอนโซลยุค Next Gen อย่างแท้จริง
The Good
- Facial Animation ที่ถูกทำขึ้นใหม่ตั้งแต่ต้นของทุกตัวละครมีความสมจริงมาก รวมไปจนถึง Motion Animation ด้วย
- เนื้อเรื่องยังคงเต็มไปด้วยเสน่ห์อย่างน่าอัศจรรย์แม้จะกลับมาเล่นเป็นรอบที่ 3 แล้ว
- แก้ไข Animation ฉากบางส่วนจากต้นฉบับและฉบับ Remastered เพื่อเพิ่มความดุดันให้เนื้อเรื่องในช่วงนั้น ซึ่งทำได้ดีมากๆ
- ตัวละครทุกตัวมีหัวใจและมีมิติของเรื่องราวที่กำลังพอดีมาก ไม่เว้นแม้แต่ตัวละครประกอบที่ออกมาเพียงระยะเวลาสั้นๆ
- เสียงพากย์ทุกตัวละครสมจริงและสร้างอารมณ์ร่วมมาก
- เกมเพลย์ที่สนุก ครบรส และต้องใช้รูปแบบการเล่นที่ผสมผสานจนแทบไม่มีอาวุธหรือสกิลไหนที่ถูกทิ้งไม่ได้ใช้งานระหว่างการผจญภัยเลย
- ประยุกต์เอา Super HD Rumble และ Adaptive Triggers มาใช้งานได้อย่างเหมาะสมและกลมกลืนไปกับเรื่องราวและการกระทำของตัวละคร
- ดนตรีประกอบที่ตรึงอารมณ์ จากการประพันธ์ของ Gustavo Santaolalla นักประพันธ์เพลงเจ้าของรางวัล Oscar
The Bad
- AI มนุษย์เช่นพวก Hunter มีความเงอะงะมาก มองเห็นแต่เรา แต่ไม่เคยมองเห็นเพื่อนร่วมเดินทางของเราเลย ทำให้ความสมจริงในฉากต่อสู้ลดลงพอสมควร
- งานแปลบางส่วนยังมีปัญหาเรื่องความต่อเนื่องของภาษา เช่นการใช้ "ผม" ในวรรคบน แต่วรรคต่อมาแปลเป็น "ฉัน"
- ในฉบับที่ได้มารีวิว ยังมีบัคในเกมให้เห็นบ้างเล็กน้อย เช่นฉากแก้ปริศนาบันไดในอุโมงค์น้ำใต้ดินที่หากวางบันไดไว้บนพื้นจะไม่สามารถยกขึ้นมาวางใหม่ในที่ๆ ถูกต้องได้
- แฟนที่เคยซื้อฉบับก่อนหน้าไปแล้ว ทั้งต้นฉบับและฉบับ Remastered ยังคงต้องเสียเงินเต็มราคาในการซื้อ The Last of Us Part 1 Rebuilt นี้บน PlayStation 5 ซึ่งเป็นเกมเวอร์ชั่นที่สมบูรณ์และควรค่าที่สุดในการเล่น The Last of Us
-
เนื้อเรื่อง
-
เกมเพลย์และการควบคุม
-
ภาพและกราฟิก
-
เพลงและดนตรีประกอบ
-
ความคุ้มค่าต่อราคา
ย้อนกลับไปในปี 2013 สตูดิโอเบื้องหลังเกมสุดฮิต Crash Bandicoot อย่าง Naughty Dog และ PlayStation ได้สร้างประวัติศาสตร์สำหรับวงการเกมเอาไว้ด้วยการเปิดตัวเกมที่ยังคงได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในเกมที่ดีที่สุดในโลกมาจนถึงปัจจุบันอย่าง The Last of Us ให้กับเครื่อง PlayStation 3 ในช่วงท้ายเจนเนอเรชั่น ก่อนที่ต่อมาจะนำกลับมาปรับปรุงใหม่อีกครั้งและออกจำหน่ายให้กับ PlayStation 4 ภายใต้ชื่อ The Last Of Us Remastered ซึ่งก็ยังคงประสบความสำเร็จไม่ต่างจากครั้งแรกที่วางจำหน่าย
เวลาผ่านมา 9 ปี สตูดิโอ Naughty Dog ได้ตัดสินใจครั้งสำคัญในการคืนชีพปฐมบทตำนานเกมแห่งยุคอีกครั้ง โดยในครั้งนี้ทางสตูดิโอไม่ได้เพียงแค่ทำการปัดฝุ่นของเดิมให้ดูดีขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่กลับตั้งใจที่จะทำมันขึ้นมาใหม่อีกครั้งโดยอ้างอิงจากโครงสร้าง Motion Capture และเสียงพากย์เดิมที่ทีมนักแสดงชุดเก่าเคยทำเอาไว้ได้อย่างยอดเยี่ยม ผสมผสานกับเทคโนโลยีใหม่ที่เพิ่งจะเป็นไปได้บนคอนโซลยุคปัจจุบันอย่าง PlayStation 5 โดยมีคติพจน์ประจำการทำงานในโปรเจคนี้ว่า “นี่คือเป็น The Last of Us เวอร์ชั่นที่ควรจะเป็นอย่างแท้จริง แต่กลับยังเป็นไปไม่ได้เมื่อย้อนกลับไปในวันนั้น” เพราะสำหรับสตูดิโอ Naughty Dog และ Neil Druckmann เองเชื่อเสมอว่า The Last of Us นั้นคู่ควรกับการมีปฐมบทเวอร์ชั่นที่ยอดเยี่ยมที่สุด เพื่อความสมบูรณ์ของทุกภาคที่จะตามมา
…ถ้าจะให้สรุปสั้นๆ AppDisqus ก็ขอตอบตรงนี้เลยว่า “โคตรคุ้มที่จะเสียเงินเพื่อกลับมาเล่นใหม่อีกครั้ง” แต่หากใครอยากได้รายละเอียดแบบจัดเต็มก็เชิญติดตามอ่านกันต่อได้เลย…
และเนื่องจาก The Last of Us นั้นเป็นการนำเกมในตำนานจากเมื่อ 9 ปีที่แล้วกลับมาคืนชีพใหม่ แถมในรอบนี้ยังเป็นการกลับมาครั้งที่ 3 ของ The Last of Us บนคอนโซลเจนเนอเรชั่นล่าสุดอย่าง PlayStation 5 ด้วย เชื่อได้ว่าสิ่งหนึ่งที่แฟนๆ ต่างก็ตั้งคำถามคือนอกจากงานภาพและโมเดลตัวละครและสถานที่ที่ได้รับการสร้างใหม่แบบยกระดับขึ้นแล้ว The Last of Us Part 1 Rebuilt นั้นยังมีอะไรเพิ่มเติมที่คู่ควรต่อการเสียเงินให้กับเกมเดียวกันนี้เป็นรอบที่ 3 อีกหรือไม่
มีอะไรใหม่บ้าง…ใน The Last of Us Part 1 Rebuilt
The Last of Us Part 1 Rebuilt นั้นนอกจากจะมีตัวเนื้อเรื่องหลักของ The Last of Us ในภาคแรกแล้ว เช่นเดียวกันกับ The Last of Us Remastered ที่ตัวเกมเองยังมาพร้อมกับ The Last of Us : Left Behind ซึ่งเป็นเนื้อเรื่องรองที่สำคัญที่จะทำให้ผู้เล่นได้รู้จักกับตัวละคร Ellie อย่างในระดับลึกขึ้นกว่าเดิมที่ในเนื้อเรื่องหลักไม่สามารถขยายความในส่วนนี้ได้ และยังจำเป็นต่อการส่งต่อผู้เล่นไปยัง The Last of Us Part II ที่เปิดจำหน่ายไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมาและได้คะแนนรีวิวจาก AppDisqus ไปถึง 100 คะแนนเต็มอีกด้วย
นอกจากเนื้อเรื่องหลักและเนื้อเรื่องรองแล้ว ตัวเกมยังรองรับการใช้งาน DualSense Controller ของ PS5 อย่างเต็มประสิทธิภาพอีกด้วย โดยทางสตูดิโอ Naughty Dog ได้พัฒนาเกมในเวอร์ชั่น Rebuilt นี้ให้รองรับการใช้งานความสามารถ Super HD Rumble หรือการสั่นของจอยเกมที่มีความหนักเบาและลักษณะที่แตกต่างกันไปตามพื้นผิวสัมผัสที่ตัวละครมีปฏิสัมพันธ์ด้วยในขณะนั้น รวมไปจนถึงสภาพแวดล้อมรอบตัวของตัวละครด้วย โดยใน The Last of Us Part 1 Rebuilt นั้น ผู้พัฒนานำเอาความสามารถนี้มาใช้ได้อย่างมีเอกลักษณ์และเต็มประสิทธิภาพของมันมาก ซึ่งนอกจากจะแบ่งแยกลักษณะพื้นผิวของสิ่งที่สัมผัสได้อย่างชัดเจนแล้ว ตัวจอยเองยังสั่นตอบสนองต่อสภาพดินฟ้าอากาศในเกมในรูปแบบที่ต่างกันออกไป เช่นเวลาที่ฟ้าผ่าลงมาหรือเวลาที่พายุหิมะโถมเข้าใส่อีกด้วย
นอกจาก Super HD Rumble แล้ว The Last of Us Part 1 Rebuilt ยังรองรับฟีเจอร์ Adaptive Triggers หรือการหน่วงจอยตามน้ำหนักของอาวุธที่ตัวละครกำลังใช้งานอยู่ เพื่อเพิ่มอรรถรสในการเล่นเกม ซึ่งต้องบอกว่าความรู้สึกของการหน่วงปลายนิ้วสัมผัสเวลาที่ Joel และ Ellie เตรียมยิงธนูใส่พวก Clicker, Runner, Stalker, Bloater หรือแม้แต่ Hunter ตลอดจนเวลาคราฟต์อาวุธต่างๆ ที่โต๊ะอัพเกรดของ Joel นั้นช่างให้ความรู้สึกที่ยอดเยี่ยมและสมจริงสุดๆ ต่างจากการเล่นรอบที่ผ่านๆ มาอย่างสิ้นเชิงเลยล่ะครับ
ใน The Last of Us Part 1 Rebuilt บน PlayStation 5 นี้ ผู้เล่นยังสามารถเลือกปรับภาพกราฟิกได้ 2 โหมดตามความชอบส่วนบุคคลอีกด้วยครับ โดยโหมดแรกนั้นชื่อว่าโหมด “ความแม่นยำ” ซึ่งจะเหมาะกับผู้เล่นที่เน้นความคมชัดมากกว่าเฟรมเรต โดยตัวเกมจะคงความละเอียดของภาพไว้ที่ 4K ในขณะที่ลดเฟรมเรตลงที่ 30Hz คงที่ ส่วนในโหมด “ประสิทธิภาพ” นั้นตัวเกมจะเน้นความคมชัดและเฟรมเรตแบบสมดุล โดยจะตั้งเป้าหมายของเฟรมเรตไว้ที่ 60Hz คงที่ ส่วนความคมชัดนั้นจะเน้นยืดหยุ่นระหว่าง 2k – 4k ตามสถานการณ์และการประมวลผลในตอนนั้น
นอกจากโหมดการตั้งค่าแล้ว The Last of Us Part 1 Rebuilt ยังมาพร้อมกับซับไตเติลภาษาไทยแบบสมบูรณ์ทั้งในฉากคัตซีนและระหว่างเกมเพลย์ รวมไปจนถึงเมนูต่างๆ ทั้งหมดในเกม และในบางฉากยังมีการฮาร์ดซับเป็นภาษาไทยลงไปในซีนนั้นๆ เลยอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่นในฉากที่บอกฤดูต่างๆ ของเกมในแต่ละช่วง ซึ่งทาง Sony เองได้เปลี่ยนคำศัพท์ฤดูจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยแบบฮาร์ดซับไตเติลลงไปเลย หรือในฉากไทม์แลปส์เองก็เช่นเดียวกัน ที่มีการฝังซับลงไปเป็นส่วนหนึ่งกับฉากนั้นของเกมเลย และที่สำคัญที่อดชมไม่ได้คือซับไตเติลภาษาไทยใน The Last of Us Part 1 นั้น เวลาที่เราเลือกปรับเป็นขนาดใหญ่ มันใหญ่ได้สะใจสมกับที่ควรเสียที ไม่ต้องมาปวดหัวปวดใจกับขนาดของซับไตเติลเหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับเกมเอ็กซ์คลูซีพก่อนหน้านี้ของค่ายอย่าง Horizon Forbidden West อีกแล้ว
สุดท้ายแล้วคือโหมดการเล่นแบบใหม่ที่มีเพิ่มเข้ามาให้ตามคำเรียกร้องของแฟนๆ ที่โดยส่วนตัวผมเองคงไม่ไหวจะเล่นในโหมดนี้แน่ๆ แต่คิดว่าน่าจะถูกใจสายฮาร์ดคอร์หลายต่อหลายคนอยู่ไม่น้อย โดยโหมดที่ว่านี่คือโหมด “การตายถาวร” ซึ่งมีให้เลือกทั้งหมด 3 ระดับความท้าทาย คือ
- ทั้งเกม – ทันทีที่ตาย ไม่ว่าจะเล่นถึงไหนก็ตาม เกมจะลบเซฟของคุณทิ้งทำให้คุณต้องเริ่มเกมใหม่ตั้งแต่ต้น
- ต่อหนึ่งองก์ – ทันทีที่ตาย คุณจะต้องเริ่มเล่นใหม่ตั้งแต่ต้นองก์นั้น ซึ่งในแต่ละองก์จะมีความยาวในการเล่นเฉลี่ยประมาณ 2 – 3 ชั่วโมง
- ต่อหนึ่งบท – ทันทีที่ตาย คุณจะต้องเริ่มเล่นบทนั้นๆ ใหม่ตั้งแต่ต้น ซึ่งต่อหนึ่งบทจะมีความยาวเฉลี่ยประมาณ 30 – 60 นาที
สำหรับคนที่ยังไม่เคยเล่น The Last of Us มาก่อน ผมขอแนะนำให้หนีโหมดนี้ไปให้ไกล เพราะตัวเกมนั้นยากจริงจังแม้จะปรับระดับความยากเป็นระดับปานกลาง ต่อให้คิดว่าระวังตัวแค่ไหน ถ้าถูก Clicker งับคอแม้แต่ครั้งเดียวคุณก็พร้อมจะไปสวรรค์เกมโอเวอร์ได้เลย…รู้อย่างนี้แล้วอย่าหาว่าไม่เตือนนะ
นอกจากทั้งหมดที่กล่าวมาแล้ว The Last of Us Part 1 Rebuilt ยังมาพร้อมกับโหมด Speedrun ที่จะมีการแทร็กเวลาการเล่นเอาไว้สำหรับคอร์เกมที่ต้องการเล่นเก็บสถิติความเร็ว โดยโหมด Speedrun จะเปิดให้เลือกเล่นได้หลังจากที่จบตัวเกมทั้งเนื้อเรื่องหลักและเนื้อเรื่องรองแล้ว 1 รอบ ตลอดจนโหมดเครื่องแต่งกายพิเศษของตัวละครหลักทั้งสองตัวอย่าง Joel และ Ellie รวมไปจนถึงโหมดโมเดลไว้ให้ดูโมเดลสามมิติของตัวละครต่างๆ ในฉากไอคอนิกสำคัญๆ ของเรื่อง ซึ่งทั้งหมดนี้คือสิ่งที่มีเพิ่มเข้ามาใน The Last of Us Part 1 Rebuilt นั่นเอง
ในโลกอันบิดเบี้ยว…กับการตัดสินใจระหว่างสิ่งที่อยากทำ ศีลธรรม และความถูกต้อง
The Last of Us Part 1 บอกเล่าเรื่องราวของ Joel (โจเอล) ที่ต้องทนอยู่กับตัวเองอย่างเจ็บปวดมาตลอด 20 ปี หลังผ่านเหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุดในชีวิตไปในช่วงต้นของการระบาดของโรคไวรัสสมอง Cordyceps ที่มีจุดกำเนิดมาจากเชื้อรากินสมองที่ปนเปื้อนมากับอาหารนำเข้ามาจากอเมริกาใต้ การสูญเสียครั้งสำคัญครั้งนี้หล่อหลอมให้โจเอลกลายเป็นคนที่ไม่แยแสกับชีวิตคนอื่น แต่จะทำทุกอย่างเพื่อเอาตัวรอดในโลกอันบิดเบี้ยวนี้ให้ได้ไปวันๆ และหนึ่งในงานที่เขายึดเป็นงานหลักก็คือการเป็นคนส่งของที่ไม่เคยจะตั้งข้อสงสัยว่าของสิ่งนั้นคืออะไรและไม่เคยสนใจจะปฏิเสธไม่ว่าของสิ่งนั้นจะขาวหรือดำ
จนกระทั่งในวันหนึ่ง ด้วยสถานการณ์บางอย่างที่บังคับให้เขาต้องทำภารกิจส่งของที่จะเปลี่ยนชะตากรรมของมนุษยชาติไปโดยสิ้นเชิง โดยของที่เขาต้องนำส่งในครั้งนี้ต่างจากครั้งก่อนๆ ที่เขาเคยทำมา เพราะมันคือเด็กผู้หญิงนามว่าเอลลี่ ผู้ที่อาจเป็นตัวแปรสำคัญในการรักษาโรคไวรัสสมอง Cordyceps ให้หายไปจากโลกใบนี้ได้
แม้ว่าโจเอลอาจจะยังไม่เข้าใจภารกิจนี้ดีนัก แต่ด้วยความจำเป็นบางอย่างทำให้เขาต้องตบปากรับทำภาระกิจนี้และร่วมเดินทางไปกับเด็กหญิงแปลกหน้า ที่ยังไม่รู้ว่าชะตากรรมที่รอคอยเขาและเธออยู่นั้นคืออะไร
Ellie (เอลลี่) สาวน้อยวัย 14 ปีที่รู้และตระหนักดีว่าตนอาจจะเป็นเพียงความหวังเดียวของโลกใบนี้ จึงพร้อมสำหรับภารกิจการออกเดินทางที่แสนยาวไกล ไปสู่สถานที่ๆ เธอเชื่อว่าจะสามารถใช้บางสิ่งที่เธอมีพิเศษเหนือใครให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ โดยที่ไม่คาดคิดเลยว่าเพื่อให้บรรลุจุดประสงค์ดังกล่าว เธอต้องแลกมันด้วยอะไรบ้าง และด้วยความที่เธอมีนิสัยกบฎเล็กๆ ตามสไตล์สาวน้อยที่เกิดมาในโลกยุคที่สุดจะโหดร้ายและไว้ใจใครได้ยากนี้ การต้องมาเดินทางร่วมกับโจเอลซึ่งเธอเพิ่งจะรู้จักและไม่ไว้ใจเลยสักนิดจึงเป็นเรื่องที่เธอไม่เข้าใจและพยายามต่อต้านอย่างถึงที่สุด แต่เพราะทางเลือกที่มีอย่างจำกัด และเป้าหมายปลายทางที่ชัดเจนและสำคัญ เอลลี่จึงจำใจยอมรับและร่วมเดินทางไปกับคณะส่งของอย่างไม่อาจปฏิเสธได้
ตลอดการเดินทางอันแสนยาวไกลที่ต้องผ่านถึง 4 ฤดู โจเอลและเอลลี่ได้ผ่านร้อน ผ่านหนาว ผ่านหิมะ และผ่านฝนไปด้วยกัน ได้รู้จักและเรียนรู้ที่จะรักและไว้ใจกันและกัน ผ่านเหตุการณ์มากมายที่หล่อหลอมสองหัวใจที่เคยต่อต้านกันให้ผูกพันกันอย่างแน่นหนา แม้จะต่างสายเลือด แต่สายใจนั้นไม่ต่างอะไรกับพ่อและลูกสาวที่พร้อมจะเคียงข้างและฝ่าฟันอุปสรรค์ไปด้วยกัน จนเมื่อถึงจุดๆ หนึ่งพวกเขาก็รับรู้และตระหนักได้ว่า…พวกเขาทั้งคู่คือความหวังของกันและกันที่ไม่ว่าโลกใบนี้จะโหดร้ายสักเพียงใด แสงสว่างจากความหวังนี้ก็จะคอยส่องทางให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงเสมอ
หรือความเจ็บปวดคือหัวใจสำคัญของการเรียนรู้และเติบโต…
แผลในอดีตของโจเอลทำให้เขาเป็นคนไร้หัวใจ ความเจ็บปวดที่ฝังรากลึกมากว่า 20 ปี สอนให้เขาเลิกแยแสกับสิ่งใดๆ สำหรับเขาแล้ว การชะล้างความเจ็บปวดในหัวใจได้ คือการไม่ต้องคิดถึง ไม่ต้องจดจำ และไม่หันกลับไปมองมัน
แผลทางร่างกายและจิตใจที่เกิดขึ้นกับเอลลี่ในระหว่างการเดินทางสั่งสมให้เด็กสาวเริ่มเรียนรู้ว่าในโลกใบนี้ ต่อให้แสร้งทำเป็นแข็งแกร่งสักเพียงใด ท้ายที่สุดแล้วเราทุกคนต่างก็ต้องการใครสักคนที่เป็นดั่งที่พึ่งทางจิตใจเมื่อบอบช้ำ และที่พักพิงเพื่อฟื้นฟูร่างกายเมื่อโดนทำร้าย และเหนือสิ่งอื่นใดคือ…เธอต้องการใครสักคนที่คอยนำทางเธอ ใครสักคนที่มาเติมเต็มช่องว่างที่ขาดหายไป ใครสักคนที่จะรักและดูแลเธอได้อย่างที่ “พ่อ” สักคนจะมอบให้กับ “ลูก” คนหนึ่งได้ และใครคนนั้นที่เธอต้องการก็คือ “โจเอล” คนที่เธอเคยไม่ไว้ใจและต่อต้านที่จะร่วมเดินทางด้วยในวันแรกนั่นเอง
ในขณะเดียวกัน หัวใจที่ได้รับการฟื้นฟูอีกครั้งของโจเอลตลอดระยะเวลาที่มีเอลลี่เคียงข้างกายก็ทำให้เขารู้ว่า ความเจ็บปวดควรเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโต ไม่ใช่สิ่งที่ควรหลบหนีหรือปิดกั้น และไม่ใช่ข้ออ้างที่จะใช้ในการรั้งตัวเองไว้ แทนที่จะยอมรับความจริงในสิ่งที่เกิดขึ้นและพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่เข้ามาในชีวิต
เอลลี่ไม่ใช่เพียงความหวัง แต่เธอคือยาที่เข้ามาเพื่อรักษาโรคร้ายที่กัดกินหัวใจของโจเอล ในขณะที่โจเอลไม่ใช่จุดหมาย แต่เป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่ช่วยเติมเต็มความเป็นมนุษย์ในตัวตนของเด็กยุคหลังโรคระบาดอย่างเธอ ตราบใดที่ทั้งคู่เคียงข้างกันไป เป้าหมายก็คงไม่ไกลเกินจริง…
เมื่อถึงจุดหนึ่ง…มนุษย์ยังคู่ควรต่อการแลกทุกอย่างเพื่อรักษาไว้ไหมนะ?
การเดินทาง นอกจากจะสอนให้ทั้งคู่ได้รู้จักและรักกันและกันแล้ว มันยังทำให้โจเอลต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่า จากสถานการณ์ทุกอย่างที่เกิดขึ้น จากความไม่ยุติธรรมในชีวิตที่เขาได้รับ และจากความบิดเบี้ยวทุกอย่างในโลกใบนี้หลังจากที่มนุษย์ได้เผยธาติแท้ของตัวเองออกมาให้เห็นกันแล้ว มนุษย์ยังคู่ควรต่อการแลกทุกอย่างเพื่อรักษาไว้ไหม…
แน่นอนว่านอกจากโจเอลแล้ว เชื่อว่าผู้เล่นอย่างเราเองก็ต้องตั้งคำถามนี้กับตัวเองเช่นเดียวกันเมื่อถึงจุดๆ หนึ่งที่สถานการณ์ขีดเส้นให้เราต้องเป็นผู้กำหนด แน่นอนว่าคำตอบทั้งหมดต่อบทสรุปของมหากาพย์การเดินทางนั้นย่อมต้องย้อนกลับไปยังคำถามในจุดเริ่มต้นของเรื่องราวและการผจญภัยของโจเอลและเอลลี่ว่า…ระหว่างสิ่งที่อยากทำ ศีลธรรม และความถูกต้องนั้น โจเอลและคุณได้เลือกสิ่งที่สมควรแล้วจริงๆ ใช่หรือไม่ และเราทั้งคู่จะไม่มัวแต่มานั่งสงสัยและเสียใจกับสิ่งที่เลือกจริงๆ ใช่ไหม…
เพราะเมื่อโลกพรากสิ่งที่มีค่าที่สุดไปจากโจเอล เขาก็พร้อมที่จะพรากทุกอย่างไปจากโลกใบนี้เช่นเดียวกัน…
เนื้อเรื่องคงเดิม…แต่กระชากอารมณ์จนเจ็บหัวใจขั้นสุดด้วยตัวละครที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ให้แสดงอารมณ์ทางสีหน้าและแววตาได้อย่างชัดเจน
The Last of Us นั้นถือเป็นเกมที่ทรงพลังในการเล่าเรื่องที่แทบไม่มีเกมไหนจะเทียบเคียงได้อย่างง่ายดายอีกต่อไปแล้ว อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับคือเทคโนโลยีในสมัยนั้นที่ยังเป็นปัญหาในการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครผ่านทางสีหน้า ท่าทาง และการแสดงออกได้อย่างไม่สมบูรณ์แบบสักเท่าไหร่นัก และแม้ว่าตัวบทและการเล่าเรื่องนั้นจะสมบูรณ์สักเพียงใด บ่อยครั้งที่อารมณ์และความรู้สึกที่ตัวละครถ่ายทอดออกมากลับถูกลดทอนไปเพราะสีหน้าและแววตาของตัวละครในเรื่องเอง และแน่นอนว่าแม้แต่ Joel Miller และ Ellie Williams สองตัวเอกจาก The Last of Us เองก็ประสบปัญหาเดียวกันนี้ในหลายต่อหลายคัตซีนและไดอะล็อกในเกมเวอร์ชั่นดั้งเดิมและเวอร์ชั่น Remastered บน PlayStation 4 ทำให้ในบางฉากที่ควรดึงอารมณ์ผู้เล่นไปได้สุด กลับต้องมาสะดุดอยู่ไม่มากก็น้อย
อย่างไรก็ตาม ใน The Last of Us Part 1 Rebuilt บน PlayStation 5 นั้นนับได้ว่าเป็นครั้งแรกที่ปัญหานี้ถูกแก้ไขออกไปอย่างหมดจด ด้วยความตั้งใจของทีมผู้สร้างเองที่ต้องการจะ “Rebuilt หรือ สร้างมันขึ้นมาใหม่” ในยุคสมัยที่คอนโซลทรงพลังขนาดนี้ การถ่ายทอดอารมณ์ทั้งหมดของตัวละครผ่านทางสีหน้า แววตา และท่าทางนั้นจึงทำออกมาได้อย่างไร้ที่ติแม้จะไม่ได้มีการมากำกับ Motion Capture ใหม่แต่อย่างใด ทำให้นี่เป็นครั้งแรกของผมที่กลับมาเล่น The Last of Us แล้วรู้สึกสะเทือนใจและถึงขั้นน้ำตาคลอไปกับฉากแทบทุกฉากในเกม ยกตัวอย่างเช่นในฉากเกริ่นนำเรื่องในช่วง 15 นาทีแรกหลังจากที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้นกับ Sarah (ซาร่าห์) ลูกสาวแท้ๆ เพียงคนเดียวของโจเอล ซึ่งสตูดิโอ Naughty Dog ได้รีบิลด์ตัวละครขึ้นมาใหม่ได้อย่างมีมิติในการแสดงสีหน้าและท่าทางมากจนทำให้หัวใจน้อยๆ ของเกมเมอร์อย่างเราถึงขั้นเจ็บปวดไปกับเหตุการณ์ที่ประสบตรงหน้าไปด้วย
AppDisqus ได้แคปเจอร์ภาพของซีนเดียวกันนี้จาก The Last of Us Part 1 Rebuilt และ The Last of Us Remastered มาเปรียบเทียบให้เพื่อนๆ เห็นกันด้านล่างนี้ด้วย เพราะเราเชื่อว่าคงไม่มีคำอธิบายใดที่จะชัดเจนได้ดีไปกว่าการให้เพื่อนๆ ได้พิจารณาด้วยสายตาตัวเอง
ในฉากเดียวกันนี้ น้ำตาจากความเจ็บปวดของโจเอลนั้นถูกถ่ายทอดออกมาได้อย่างยอดเยี่ยมจนขนลุก โดยไหลให้เห็นออกมาเป็นเม็ดๆ แบบคมชัดเมื่อเทียบกับฉบับ Remastered ซึ่งแน่นอนว่าส่งผ่านอารมณ์ตัวละครมาถึงผู้เล่นอย่างเราแบบเต็มรักกันไปเลยทีเดียวครับ
เอาแค่ Prologue หรือเกมเพลย์ในช่วงอารัมภบทเราก็รู้ได้แล้วว่า Naughty Dog ไม่ได้มาเล่นๆ สำหรับการ Rebuild ในครั้งนี้ โดยเราจะเห็นคุณภาพการเปลี่ยนแปลงของโมเดลตัวละครและโมชั่นแคปเจอร์ของตัวละครทั้งหมดแบบชัดเจนมาก ซึ่งต้องขอบคุณขุมพลังของ PlayStation 5 และความตั้งใจในการรังสรรค์งานของสตูดิโอ กอปรกับฟีเจอร์ Super HD Rumble ที่เราได้สัมผัสตลอดทั้งซีเควนซ์แรกของเกมต้องบอกเลยว่าการเล่น The Last of Us ใหม่ในรอบนี้คือรู้เลยว่าจะเต็มไปด้วยอารมณ์ใหม่ๆ ที่สุดยิ่งกว่าเดิม และต้องคุ้มค่า คุ้มเวลามากๆ อย่างไม่ต้องสงสัยเลย
นอกจากสีหน้าของตัวละครที่สามารถสื่อสารอารมณ์ได้อย่างชัดเจนขึ้นมากแบบสุดๆ แล้ว ทีมผู้พัฒนายังไปสุดกว่านั้นด้วยการแก้ไขเอนิเมชั่นของตัวละครในบางฉากที่เปลี่ยนอารมณ์และความรุนแรงจากเดิมไปอย่างชัดเจน หนึ่งในฉากที่ผู้รีวิวเห็นชัดเจนที่สุดคือฉากที่ Tess (เทสส์) และโจเอลได้ค้นพบความลับบางอย่างของเอลลี่โดยบังเอิญ ส่งผลให้เกิดความไม่ไว้วางใจกันขึ้นในกลุ่ม ซึ่งในจังหวะนี้ ใน The Last of Us Part 1 Rebuilt ทาง Naughty Dog เองเลือกที่จะตีความการกระทำของตัวละครเทสส์ใหม่ให้มีความชัดเจนทางอารมณ์มากยิ่งขึ้นด้วยการให้เทสส์จ่อปืนไปที่ตัว เอลลี่ในทันที ในขณะที่ใน The last of Us Remastered และต้นฉบับนั้น ตัวเทสส์จะไม่ได้ยกปืนขึ้นมาจ่อไปที่เอลลี่แต่อย่างใด ทำให้อารมณ์ความรุนแรงและความแข็งกระด้างในฉากนั้นลดลงไปมาก ซึ่งต้องบอกเลยว่านี่คือหนึ่งในหลายๆ จุดเล็กๆ ที่ Naughty Dog ตั้งใจเปลี่ยนแปลงและส่งผลกระทบทางจิตใจในด้านดีกับผู้เล่นอย่างชัดเจนมากๆ โดยส่วนตัวผมเอง ยอมรับว่าหัวใจตกไปชั่ววินาทีเมื่อเห็นเทสส์จ่อปืนไปที่เอลลี่อย่างในฉบับ Rebuild นี้ ในขณะที่ตอนเล่นฉบับ Remastered หรือต้นฉบับนั้น ในฉากนี้ผมยังไม่ได้รู้สึกถึงเสี้ยววินาทีแห่งความรังเรใจและการตัดสินใจความเป็นความตายของตัวละครสักเท่าไหร่เลย
นอกจากโมเดลตัวละครที่มีการสร้างใหม่ให้มีความสมจริงขึ้นมากแล้ว งานฉาก งานแสง และงานสีสันเองก็เข้าใจว่าตั้งใจทำใหม่ทั้งหมดเช่นเดียวกัน โดยไม่ได้ให้แค่ความรู้สึกว่ามันดีขึ้นเหมือนตอนต้นฉบับไปเป็น Remastered แต่มันดูออกเลยว่ามันถูกยกเครื่องใหม่เพื่อนำมาใช้ในเวอร์ชั่น Rebuilt นี้ทั้งหมด
หนึ่งในฉากที่น่าสนใจมากคือฉากการตัดสินใจอะไรบางอย่างในสถานการณ์คับขันระหว่างโจเอล เอลลี่ และเทสส์ ซึ่งจะเห็นได้ว่าบน The Last of Us Part 1 Rebuilt นั้นแสงที่ส่องกระทบเข้ามาผ่านทางกระจกประตู รวมถึงรายละเอียดเบื้องหลังของฉากทั้งหมดนั้นมันสมจริงไปหมด ซึ่งแตกต่างจากฉบับ Remasted แบบสิ้นเชิง
แน่นอนว่าความเปลี่ยนแปลงและความแตกต่างที่เห็นนี้ไม่ได้มีเฉพาะในฉากคัตซีนเท่านั้น จริงๆ แล้วต้องบอกว่าใน The Last of Us Part 1 Rebuilt นั้นเป็นเรื่องยากมากที่จะแยกความแตกต่างระหว่างฉากคัตซีนออกจากเกมเพลย์ เพราะตลอดระยะเวลาที่เล่นตั้งแต่ต้นจนจบเกม ผู้รีวิวเองไม่รู้สึกถึงความแตกต่างของความละเอียดของภาพเมื่อตัดสลับกันระหว่างฉากคัตซีนและฉากเกมเพลย์เลย นอกจากนี้ตัวเกมเองยังไม่มีช่วงจังหวะที่ต้องหยุดไปเพราะการดาวน์โหลดฉากหรืออะไรเลยแม้แต่นิดเดียว ประสบการณ์ที่ได้นั้นมันสมูธมากจนไม่เกิดความสะดุดใดๆ ซึ่งไม่แปลกใจเลยว่าทำไมถึงรู้สึกอินกับเนื้อเรื่องและตัวละครเพิ่มขึ้นมากถึงขนาดนี้เมื่อย้อนกลับมาเล่น The Last of Us อีกรอบในครั้งนี้
หนึ่งในฉากเกมเพลย์ที่จะทำให้เห็นความต่างระหว่าง The Last of Us Part 1 Rebuilt บน PS5 และ The Last of Us Remastered บน PS4 นั้นคือฉากช่วงที่เราต้องพาเอลลี่หนีจากพวกทหาร ซึ่งเป็นฉากที่โจเอลต้องวิ่งหลบซ่อนไปตามเงามืดและสภาพฟ้าฝนที่กำลังตกลงมาอย่างหนัก โดยมีเอลลี่และเทสส์วิ่งตามมาอย่างใกล้ชิด เทกซ์เจอร์ของน้ำที่ขังอยู่บนพื้น ไปจนถึงความพริ้วไหวของมันเวลาที่ตัวละครเหยียบย่ำลงไปบนปรัก เมื่อเทียบกับฉบับ Remastered แล้วต้องบอกว่าเป็นหนังคนละม้วนกันเลย และมันจะเป็นแบบนี้เหมือนกันไปตลอดทั้งเกมบนเวอร์ชั่น Rebuilt สำหรับ PlayStation 5
เกมเพลย์และการควบคุมที่ผสานเทคนิกของ Next Gen เอาไว้กับของเดิมได้อย่างลงตัว
สำหรับคนที่เคยเล่น The Last of Us มาก่อนแล้ว ต้องบอกว่าใน The Last of Us Part 1 Rebuilt ทาง Naughty Dog ยังคงคุมรูปแบบการเล่นและการบังคับไว้ให้คงเดิมแทบทุกอย่าง เพราะอะไรที่ดีอยู่แล้วก็คงไม่มีเหตุผลให้ต้องแก้ไข ตลอดการเล่นยังคงต้องอาศัย Combination Play หรือการเล่นแบบหลากหลายรูปแบบ ทั้งย่องเบา ดุดัน โจมระยะไกลและใกล้ ตลอดจนอุปกรณ์และเครื่องมือนานาชนิดสำหรับการระเบิดเขาเผากระท่อมเหมือนเดิม
แต่สิ่งที่พัฒนาขึ้นมาคือการเพิ่มความสมจริงในการใช้และการอัพเกรดอาวุธ ตลอดจนการไขล็อกตู้เซฟต่างๆ ที่มีการนำเอาฟังก์ชั่น Adaptive Triggers และ Super HD Rumble มาใช้งานได้อย่างฉลาดมาก ยกตัวอย่างเช่นเวลาที่เราต้องการปลดล็อกตู้เซฟที่กระจายกันอยู่ตามจุดต่างๆ ของสถานที่นั้น ใน The Last of Us Part 1 Rebuilt เราไม่จำเป็นต้องเสียเวลาหาคำใบ้รหัสปลดตู้เซฟอีกต่อไป เพราะ Super HD Rumble จะมีการสั่นจังหวะแปลกๆ ให้เรารับทราบได้ว่าเราเลื่อนไปถึงตัวเลขล็อคที่ถูกต้องแล้ว พร้อมกับเสียงคลิกที่มีลักษณะต่างไปจากทั่วไปด้วย ซึ่งให้อารมณ์เหมือนเรากำลังลักลอบเปิดตู้เซฟอย่างแท้จริง เหมือนกับที่ Naughty Dog เคยใช้ใน Uncharted: Legacy of Thieves Collection ผลงานก่อนหน้าของค่ายที่ถูกนำมาปัดฝุ่นลงบน PlayStation 5 ไปก่อนหน้านี้แล้ว
นอกจากการปลดล็อคตู้เซฟแล้ว การใช้งานอาวุธทุกรูปแบบจะมีจังหวะการหน่วงหนักเบาแตกต่างกันไปตามชนิดของอาวุธและระดับการอัพเกรดอาวุธชนิดนั้นๆ ทำให้เวลาที่เราอัพเกรดอาวุธ นอกจากจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพความแรงของมันแล้ว อัดตราการดีดตัว (การถีบ) ของอาวุธเองก็จะสร้างความแตกต่างให้การผู้เล่นได้อย่างสมจริงเช่นเดียวกัน ซึ่งทั้งหมดนี้คือการประยุกต์เอาความสามารถของ DualSense Controller มาใช้ได้อย่างเหมาะสมและลงตัวมาก ส่งผลต่ออารมณ์ ความกดดัน และรูปแบบการเล่นของผู้เล่นอย่างแท้จริง
นอกจากเครื่องมือสำหรับการอัพเกรดอาวุธที่เราต้องเสาะหาระหว่างการเดินทางแล้ว The Last of Us Part 1 ยังคงมาพร้อม เหรียญ Pendant ของกลุ่ม Fireflies หนังสือการ์ตูนสำหรับเอลลี่ และสูตรลับการอัพเกรดความสามารถของระเบิดหรืออาวุธโจมตีระยะใกล้ ให้เราได้ตามหาเพื่อเก็บสะสมและพัฒนาความสามารถอาวุธระยะใกล้และระเบิดของเราให้ดีขึ้น
สภาพแวดล้อมของเกมนั้นถูกเพิ่มความน่ากลัวให้มากยิ่งขึ้นด้วยเสียงจากตัวหลอนประจำเกมอย่าง Clicker ศัตรูที่แทบจะทำให้เราตายในทันทีที่มันเข้ามาใกล้ (โดยเฉพาะในช่วงแรกๆ ของเกม) ซึ่งนอกจากเจ้าคลิกเกอร์ที่ว่านี้แล้ว ศัตรูตัวอื่นๆ ในเกมอย่าง Runner, Stalker และ Bloater เองก็น่ากลัวและมีรูปแบบการโจมตีที่แตกต่างกันออกไป ทำให้เราต้องเลือกวิธีการโจมตีที่เหมาะสมกับมนุษย์กลายพันธุ์เหล่านี้ในแต่ละรูปแบบที่ไม่เหมือนกันเลย
ยกตัวอย่างเช่น Clicker จะโจมตีโดยใช้การได้ยินเป็นหลัก และด้วยเพราะเราไม่สามารถเข้าใกล้มันได้ง่ายเพราะมันเร็วและฆ่าเราได้ในจังหวะเดียว เราเลยต้องใช้การย่องเบาเข้าไปปักคอมันด้วยมีดสั้น ซึ่งได้มาจากการเก็บไอเท็มในฉากหรือการสร้างอาวุธนี้มาจากการเก็บรวบรวมสิ่งของเท่านั้น ทำให้ทรัพยากรการใช้นั้นมีอย่างจำกัดมาก ดังนั้นทุกครั้งที่ใช้เลยต้องพิจารณาให้ดีว่าควรจะเสียมีดสั้นนี้ไปไหม หรือควรจะเดินย่องเบาหนีไปดีกว่า โดยการย่องเบานั้นก็ทำได้ด้วยการเคลื่อนอนาล็อคให้เบาที่สุดเพื่อเดินให้ช้าที่สุดและส่งเสียงให้น้อยที่สุดนั่นเอง
ในขณะเดียวกัน สำหรับ Runner และ Hunter (มนุษย์นักล่า) นั้นจะมีความใกล้เคียงกันในการโจมตี โดย Runner ยังคงใช้เสียงในการระบุเป้าหมาย แต่ Hunter ใช้ประสาทสัมผัสรับรู้ของคนทั่วไปทั้งหมดในการโจมตี ในระหว่างการเล่น เราจะเรียนรู้ว่าแม้การโจมตีของศัตรูทั้งสองนี้จะมีความคล้ายกัน แต่วิธีการเลือกตอบโต้หรือจัดการของผู้เล่นนั้นต้องอาศัยความต่างกันพอประมาณ เพราะในขณะที่ Hunter จะมีรูปแบบการโจมตีแบบมนุษย์ที่ไม่ได้เน้นหมาหมู่แต่ดูความเหมาะสมของพื้นที่และสถานการณ์มากกว่า เจ้า Runner นั้นกลับตรงกันข้าม ทันทีที่ได้ยินเสียงมันจะวิ่งกรูกันเข้ามาแบบสัญชาตญาณสัตว์ป่า ดังนั้นในบางสถานการณ์ การจัดการกับ Hunter ด้วยวิธีการยิงแหลกนั้นเลยสามารถทำได้ ในขณะที่หากทำแบบเดียวกันกับ Runner แล้วย่อมไม่ต่างอะไรกับภารกิจฆ่าตัวตายชัดๆ เช่นเดียวกันกับ Bloater ที่การใช้ระเบิดไฟอาจเป็นการโจมตีที่ดูเข้าท่าที่สุดสำหรับผู้รีวิว และ Stalker ที่อาจเน้นหนีเมื่อมีโอกาส ทั้งหมดนี้ต่างก็มีรูปแบบการโจมตีเป็นของตัวเอง ซึ่งเพิ่มมิติและความหลากหลายในการเล่นให้เกิดขึ้นได้อย่างยอดเยี่ยมมาก
Listen Mode หรือโหมดการรับฟังสภาพแวดล้อมเพื่อใช้สัญชาตญาณในการวิเคราะห์หาศัตรูที่อยู่รอบตัวนั้นถือเป็นหัวใจสำคัญมากๆ ในการวางแผนเอาตัวรอดในแต่ละสถานการณ์ ในช่วงแรกผู้เล่นอาจไม่เห็นความสำคัญกับการใช้งานโหมดนี้สักเท่าไหร่นัก แต่ในช่วงกลางไปถึงช่วงท้ายของเกมนั้น ความเข้มข้นและความยากของศัตรูจะบังคับให้เราต้องใช้โหมดนี้เป็นประจำเองโดยอัตโนมัติ และระยะการรับฟังนั้นสามารถอัพเกรดได้โดยการใช้อาหารเสริมที่เก็บได้ในระหว่างการเดินทาง เช่นเดียวกันพลังชีวิตและค่าสแตตสำคัญอื่นๆ ที่เหมือนจะเป็นการบังคับกลายๆ ว่าเพื่อความอยู่รอด การสำรวจแผนที่และฉากจึงถือเป็นสิ่งที่ผู้เล่นจะต้องทำอย่างสม่ำเสมอ
เสน่ห์ที่สำคัญของ The Last of Us นั้นคือ Quick Time Event ที่จะมีมาอยู่เรื่อยๆ ภายในเกม ซึ่งเป็น Quick Time Event ที่ถูกออกแบบการเล่นมาอย่างเหมาะสมและลงตัวกับฉากแต่ละฉากที่เกิดขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นการกดปุ่มที่ขึ้นหน้าจอตามจังหวะ หรือแม้แต่การต้องพยายามจัดการกับศัตรูในฉากทั้งหมดด้วยอุปกรณ์และเครื่องที่จำกัดและสถานการณ์ที่บังคับให้เราต้องเริ่มการโจมตีในสภาพที่ผิดปกติไปจากเดิม ซึ่งทั้งหมดนี้ในแต่ละครั้งที่มีเข้ามา เรียกได้ว่าสร้างความตื่นเต้นกดดันให้เกิดขึ้นกับผู้เล่นได้มากจริงๆ
นอกจากนี้การที่ The Last of Us Part 1 นั้นแทบจะไม่ปล่อยให้ผู้เล่นเดินทางไปในโลกที่โหดร้ายนี้ตามลำพังตั้งแต่ต้นเกม มันเลยทำให้ในสถานการณ์ที่เราต้องจัดการกับทุกอย่างเพียงคนเดียว ความกดดันทั้งหมดจึงเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด รวมทั้งอารมณ์ความเหงาความอ้างว้างที่เกิดขึ้นซึ่งไม่ได้มาจากเพียงดนตรีประกอบและฉากเท่านั้น แต่ยังมาจากเกมเพลย์ที่ชาญฉลาดที่เลือกจังหวะในการปล่อยทิ้งเราให้โดดเดี่ยวได้อย่างเหมาะเจาะ พร้อมสถานการณ์ที่ซัดเข้ามาจากการอยู่เพียงลำพังที่ทำให้เราถึงขั้นอ่วมช้ำไปไม่ต่างจากตัวละครในเกมเลย
แม้ว่า The Last of Us Part 1 นั้นดูเหมือนจะแก้ไขปัญหาแทบทุกอย่างที่เคยเกิดขึ้น และทำให้นี่คือฉบับที่คู่ควรกับ The Last of Us อย่างไร้ที่ติแล้วก็ตาม แต่ในความเป็นจริง สตูดิโอ Naughty Dog กลับยังคงไม่สามารถแก้ไขปัญหาใหญ่ที่สุดที่รั้งตัวเกมไว้จากความสมจริงแบบสมบูรณ์ได้ ปัญหาที่ว่านั้นก็คือ AI โดยเฉพาะกับศัตรูในกลุ่ม Hunter ที่แม้จะเป็นศัตรูที่ควรจะมีมันสมองและความเป็นมนุษย์ที่สุดแล้ว แต่กลับทำอะไรบางอย่างที่หลุดความเป็นมนุษย์ไปมาก ส่งผลให้เกมขาดความสมจริงไปพอควรเลยทีเดียว…
ความสมบูรณ์ที่ต้องสะดุดลงเพราะ AI และปัญหาด้านการแปลเล็กๆ น้อยๆ
ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดและต้องเอามาพูดถึงมากๆ คือเรื่องของ AI ศัตรูใน The Last of Us Part 1 ที่โดยส่วนตัวแล้วผู้เขียนมีความคาดหวังไว้สูงมากว่า Naughty Dog จะทำการแก้ไขปัญหาในส่วนนี้ในเวอร์ชั่น Rebuilt อย่างไรก็ตาม ในทุกฉากที่ศัตรูของเราคือกลุ่ม Hunter พวกศัตรูกลุ่มนี้จะเมินตัวละครที่ร่วมเดินทางไปกับเราแทบจะเสมอ ส่งผลให้ความสมจริงในฉากลดลงอย่างเห็นได้ชัด
ตัวอย่างเช่นเวลาที่มีการต่อสู้กับ Hunter แค่เราพยายามหลบตัวเองไปจากสายตาของ Hunter เจ้า AI ศัตรูก็จะมองไม่เห็นเราและไม่ยอมเปิดการโจมตีในทันที ทั้งๆ ที่เพื่อนร่วมทางของเราอย่างเอลลี่หรือตัวละครตัวอื่นๆ นั้นนั่งยองๆ อยู่ตรงหน้าพวกมัน เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่เวอร์ชั่นแรกในยุคของ PlayStation 3 และแม้จะผ่านการปัดฝุ่นใหม่มาถึง 2 รอบแล้ว Naughty Dog ก็ยังคงแก้ปัญหานี้ไม่ได้เสียที ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าเสียดายมากจริงๆ เพราะความสมบูรณ์แบบในองค์ประกอบอื่นๆ นั้นมันโดดเด่นและชัดเจนมากจนแทบจะร้องตะโกนอยู่แล้วว่าการกลับมาในครั้งนี้ของ The Last of Us Part 1 นั้นคือความเพอร์เฟ็กโดยสมบูรณ์
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเวอร์ชั่นที่ผู้รีวิวเล่นนี้เป็นเวอร์ชั่นแรกสุดก่อนวันวางจำหน่ายจริง เชื่อว่าเมื่อถึงวันวางจำหน่าย Naughty Dog เองน่าจะมีปล่อยแพชต์อัพเดตแก้ไขปัญหาเรื่อง AI ตามมาอีกที เพราะเอาเข้าจริงแล้วการอัพเกรดความฉลาดของ AI นั้นคือหนึ่งในหัวใจของ The Last of Us Part 1 Rebuilt เลยตามข้อมูลที่ทาง Sony ได้มีเผยออกมาก่อนหน้านี้ครับ
นอกจาก AI แล้ว ผู้รีวิวยังพบปัญหาเรื่องการแปลและคำตกในภาษาไทยให้เห็นอยู่เป็นจังหวะ โดยเฉพาะกับปัญหาเรื่องคำตกบรรทัดซึ่งน่าจะเกิดจากการตัดคำภาษาในบนระบบ PlayStation ที่ยังไม่ดีเท่าทีควร แต่ก็ไม่ได้ร้ายแรงหรือทำให้เสียอารมณ์ร่วมแต่อย่างใด เต็มที่ก็อาจมีแค่อ่านยากขึ้นในบางจังหวะเท่านั้นเอง
ไม่เพียงแต่ปัญหาการตัดคำไทยจนทำให้ตกบรรทัดเท่านั้น ในบางส่วนของคำแปลยังมีการใช้คำแทนตัวที่ไม่สอดคล้องไปในทางเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่นในบันทึกของตัวละครหนึ่งตัว ที่บรรทัดหนึ่งใช้คำว่า “ผม” แต่ถัดมาอีกบรรทัดดันแทนตัวเองว่า “ฉัน” ไปเสียแล้ว ซึ่งตรงนี้น่าจะเกิดจากการที่ใช้ผู้แปลหลายคน หรือไม่ก็อาจจะเป็นความผิดพลาดของตัวผู้แปลเอง แต่ก็ยังคงยืนยันว่าไม่น่าจะสำคัญอะไร เพราะปลายทางแล้วยังคงความหมายไว้ได้อย่างสมบูรณ์
อย่างที่บอกไปข้างต้นว่า The Last of Us Part 1 ในเวอร์ชั่น PlayStation 5 ที่ทาง AppDisqus ได้มารีวิวนี้เป็นเวอร์ชั่นก่อนวางจำหน่ายจริง ซึ่งในวันวางจำหน่ายจริงทาง Naughty Dog “อาจจะ” ปรับปรุงปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ทั้งหมดแล้วก็ได้ เราคงต้องรอดูกันอีกครั้งในวันที่ 2 กันยายน 2556 ที่จะถึงนี้
เอลลี่: สาบานกับหนูนะ…ว่าทั้งหมดนี้คือเรื่องจริง?
แม้ตลอดการเดินทางของโจเอลและเอลลี่ เราจะได้พบกับเรื่องราวมากมายที่ทั้งน่าหดหู่และน่าประทับใจ รวมถึงน่าติดตามไปจนถึงวินาทีสุดท้ายของเกม ซึ่งความรู้สึกและประสบการณ์ร่วมทั้งหมดนี้คงขึ้นอยู่กับผู้เล่นแต่ละคนว่าจะมองมันไปในทางใด และสัมผัสมันได้ลึกแค่ไหน แต่สิ่งหนึ่งที่เชื่อแน่ว่าจะเกิดขึ้นกับทุกคนคือการตั้งคำถามทันทีที่เอ็นด์เครดิตเลื่อนขึ้นมาบนหน้าจอถึงเหตุผลของการกระทำของโจเอลและตัวผู้เล่นเองมากมาย และคงรู้สึกไม่ต่างอะไรไปจากเอลลี่ที่ในแววตานั้นอาจเต็มไปด้วยความสงสัย แต่ลึกๆ ข้างในคือความไว้ใจที่เชื่อว่าในทุกการกระทำของโจเอลมีเหตุผลและคำตอบของมันเองเสมอ…และมันคือสิ่งที่เหมาะสมที่สุดแล้วสำหรับคนที่อยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับเขา
The Last of Us Part 1 คือการเดินทาง คือการเรียนรู้ คือการเติบโต และคือการฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ของโจเอลและเอลลี่ที่กระตุ้นให้ผู้เล่นอย่างเราได้คิดเสมอในทุกก้าวเดิน คิดถึงการมีอยู่ของตัวตน ถึงเหตุผลของความปรานี หรือแม้แต่ถึงสาเหตุแห่งความรุนแรง ปลายทางแห่งความเสียใจ หรือสิ่งที่ได้มาจากความเสียสละ ทั้งหมดนี้คือประสบการณ์ที่แทบไม่เคยมีเกมใดที่จะพาเราเข้าไปสำรวจจิตใจของตัวเองและตัวละครได้ลึกซึ้งเท่านี้อีกแล้ว และแม้เวลาจะผ่านไปนานถึง 9 ปี The Last Of Us ก็ยังคงเป็นเกมที่คู่ควรแก่การพูดถึงเหนือกาลเวลา
ไม่เพียงแค่โจเอลและเอลลี่เท่านั้นที่ทำหน้าที่ในการถ่ายทอดเรื่องราวอันน่าจดจำนี้ได้อย่างยอดเยี่ยม แต่ตัวละครอื่นๆ ที่ผ่านเข้ามา ทั้งชั่วคราว และยาวนาน ต่างก็มีเรื่องราวของตัวเองที่น่าจดจำและน่าประทับใจไม่แพ้กัน และล้วนมีบทบาทต่อการเติบโตของโจเอลและเอลลี่ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น ซาร่าห์ เทสส์ มาร์ลีน บิล ทอมมี่ เดวิด และที่สำคัญคือเฮ็นรี่และแซม
The last of Us Part 1 Rebuilt นี้คือเหล้าเก่าในขวดใหม่ ที่ไม่ได้เปลี่ยนเพียงแค่ขวดของมัน แต่ยังสั่งสมเวลาในการหมักให้นานขึ้น เพิ่มรสชาติให้จัดจ้านขึ้นจากงานภาพและสีหน้าท่าทางของตัวละครที่ถูกสร้างใหม่แบบยกชุดจากความตั้งใจของทีมงานผู้ให้กำเนิด The Last of Us ปฏิเสธไม่ได้เลยว่านี่คือ The Last of Us ในเวอร์ชั่นที่สมบูรณ์และคู่ควรที่สุดที่เกมยอดเยี่ยมเกมนี้จะเป็น และเป็นการตัดสินใจเอาของเก่ามาทำใหม่ของสตูอิโอ Naughty Dog และ Sony Entertiament ที่ไม่มีอะไรให้ต้องเสียดายเลยแม้แต่น้อย…นี่คือ The Last of Us ที่จะเป็นตำนานต่อไปในคอนโซลยุค Next Gen อย่างแท้จริง
บางเรื่องราวอาจผ่านเข้ามาแล้วจากไป แต่ The Last of Us Part 1 จะเป็นเรื่องราวที่คงอยู่ตลอดไปในใจของผู้รีวิวและเกมเมอร์ทุกคน….