ยุคนี้อะไรๆ ก็ต้องเป็นไร้สายกันไปหมดแล้ว แม้แต่หูฟังเองก็ต้องตามเทรนด์นั้นด้วย ในเมื่อสมาร์ทโฟนตัวหลักในตลาดต่างก็เริ่มตัดช่องเสียบหูฟังแบบ 3.5มม. ออก ทำให้เหลือออฟชั่นหูฟังที่ใช้ในการฟังเพลงจากโทรศัพท์กันน้อยลง และที่ดูเหมือนจะหาง่ายสุดก็เห็นจะเป็นหูฟังบลูทูธ เทคโนโลยีหูฟังไร้สายที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีนี่ล่ะ และในวันนี้เป็นคิวของ Urbanears Stadion ที่ทาง APPDISQUS ได้มารีวิวให้เพื่อนๆ ได้อ่านกัน
ปกติอเล็กซ์เองเป็นคนออกกำลังกายอยู่แล้ว และเมื่อพูดถึงการออกกำลังกาย การใช้หูฟังไร้สายบลูทูธนั้นถือเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในตลาด ณ ตอนนี้ไปแล้ว หลายๆ แบรนด์ก็พยายามเข็นหูฟังบลูทูธที่กันเหงื่อระหว่างการออกกำลังกายออกมาในตลาด แต่มีเพียงไม่กี่ตัวเท่านั้นที่อเล็กซ์ใช้แล้วตอบโจทย์การออกกำลังมากที่สุดทั้งในเรื่องของคุณภาพเสียงและความสบายในการสวมใส่ ตอนได้เจ้า Urbanears Stadion มานั้น อเล็กซ์ก็แอบตั้งความหวังไว้สูงพอประมาณ เพราะหูฟังแบบมีสายจากแบรนด์ Urbanears นั้นถือว่าทำได้ดีสมราคาของมันทีเดียว แต่ต้องยอมรับตามตรงว่าเมื่อได้ลองใช้เจ้า Stadion ดูอย่างสมบุกสมบันในการออกกำลังกายแล้ว…มันค่อนข้างจะทำออกมาได้น่าผิดหวังพอประมาณทีเดียว เหตุผลน่ะเหรอ…ตามมาดูกันเลยดีกว่า
เปิดกล่องมาเจออะไรบ้าง
- ตัวหูฟังบลูทูธ Urbanears Stadion
- ยางหูฟังพร้อมครีบสำหรับเปลี่ยนให้พอดีหูของคุณอีก 2 คู่ 2 ขนาด (รวมแล้วมี 3 คู่ 3 ขนาด)
- สายชาร์จแบตเตอร์รี่แบบ MicroUSB
- กระเป๋าใส่หูฟัง
- คู่มือการใช้งาน
- หนังสือแนะนำผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม Active จาก Urbanears
การออกแบบดีไซน์และความสบายในการสวมใส่
ก่อนจะเข้าเรื่องสำคัญของเกริ่นจากเรื่องรองมาก่อน เรื่องของการออกแบบดีไซน์นั้นเป็นประเด็นที่จับต้องได้ค่อนข้างยากเพราะขึ้นอยู่กับรสนิยมส่วนบุคคลจริงๆ สำหรับอเล็กซ์ที่ได้เจ้า Urbanears Stadion สีน้ำเงินตัดขาวที่สายมาใช้นั้น ต้องบอกว่าหน้าตาของมันดูแปลก แหวกแนว และไม่เหมือนใครดี
การออกแบบที่ทำสายหูฟังออกมาในลักษณะของขดสปริงนั้นทำให้สายไม่ระโยงระยางเกะกะเวลาที่ออกกำลังกาย และยิ่งกับคนที่รอบหัวไม่ได้กว้างมากเหมือนผม เวลาสวมใส่มันจึงเข้ามุมล็อกรอบหัวมาครอบที่หูได้อย่างพอดิบพอดี ส่วนใครที่รอบหัวกว้างหน่อยก็น่าจะไม่มีปัญหาอะไร เพราะตรงขดสปริงนั้นสามารถยืดหยุ่นได้มากทีเดียวเพื่อการสวมใส่ที่เหมาะสมกับสรีระของศีรษะแต่ละคน
ส่วนของหูฟังนั้นออกแบบมาให้สวมด้วยการเกี่ยวคล้องหูแล้วค่อยอัดตัวหูฟังเข้าไปในรูหูอีกทีหนึ่ง และเพื่อป้องกันการหลุดออกมาจากหูในระหว่างการออกกำลังกายนั้น Urbanears ได้ใส่ปีกหูฟังหรือ Ear Fin (บ้างเรียก EarClick) เข้ามาให้เราได้สอดมันเข้าไปในร่องหูของเราอีกต่อหนึ่ง จริงๆ การออกแบบหูฟังแบบนี่ต้องบอกว่าไม่รักก็เกลียดไปเลย และโดยส่วนตัวแล้วอเล็กซ์ค่อนไปทางอย่างหลังมากกว่า เพราะจากหูฟังหลายๆ แบรนด์ที่ได้ลองมาและใช้การออกแบบในลักษณะนี้นั้นส่วนมากจะทำให้สวมใส่ได้อย่างไม่สบายหูนัก หากใส่ต่อเนื่องนานๆ ก็พาลให้เจ็บปีกหูของเราไปด้วย และแน่นอนว่าเจ้า Urbanears Stadion นั้นก็ประสบปัญหาเดียวกัน จากการใส่ออกกำลังกายต่อเนื่องประมาณหนึ่งชั่วโมงครึ่งถึงสองชั่วโมงต่อเซ็สชั่นของผมนั้นพบว่าใบหูล้าพอสมควรเมื่อออกกำลังกายเสร็จ ซึ่งเกิดจากการออกแบบของหูฟังนั่นเอง
โดยส่วนตัวคิดว่าแค่มีก้านหูฟังให้คล้องรอบหูแล้วออกแบบส่วนของยางที่เสียบเข้ารูหูให้ดีนั้นก็น่าจะเพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องเพิ่มความวุ่นวายให้การใส่ Ear Fin มาแบบนี้เลย จริงอยู่ว่ามันทำให้หูฟังเกาะหูได้ดีมากแม้จะออกกำลังกายอย่างสมบุกสมบัน แต่มันก็ทรมานมากจนแทบเป็นไปไม่ได้เลยเช่นเดียวกันหากต้องใส่ต่อเนื่องเป็นเวลานาน
แต่หาก Urbanears จะเลือกใส่ครีบหูฟังหรือ Ear Fin มาให้กับเจ้า Stadion จริงๆ ก็ไม่ควรมาพร้อมกับก้านหูฟังแบบคล้องรอบหูเลย ควรออกแบบตัวหูฟังให้อิสระอย่าง Jaybirds X2 ที่ลำพังครีบหูฟังนั้นก็เพียงพอให้หูฟังเกาะหูได้อย่างไม่ต้องกังวลในระหว่างการออกกำลังกายแล้ว
และหากใครสงสัย อเล็กซ์ได้ลองเปลี่ยนครีบหูหมดทุกขนาดที่ให้มาแล้ว แต่ไม่มีขนาดไหนเลยที่จะใส่ได้อย่างสบายหู และไม่รู้สึกปวดเมื่อสวมใส่นานๆ ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วขอยกประเด็นไปให้ที่การออกแบบยางครอบหูฟังและครีบหูนั่นล่ะที่เป็นปัญหา
Urbanears Stadion นั้นซ่อนพอร์ตชาร์จแบตเตอร์รี่แบบ MicroUSB เอาไว้ที่ตรงก้านคล้องรอบคอตำแหน่งซ้ายมือสุด โดยมีแผ่นยางปิดกั้นตัวพอร์ตไว้จากการสัมผัสของเหงื่อเรา ซึ่งจากที่ลองใช้งานต่อเนื่องในสภาพที่เหงื่อออกเยอะมากก็พบว่าจุกยางดังกล่าวนั้นสามารถป้องกันเหงื่อเข้าไปในตัวพอร์ตชาร์จได้อย่างสมบูรณ์
เวลาที่เราชาร์จแบตเตอร์รี่จะมีไฟสีแดงปรากฏขึ้นมา และเมื่อแบตเตอร์รี่เต็มแล้วไฟแจ้งเตือนดังกล่าวจะเปลี่ยนเป็นสีขาวเพื่อแจ้งสถานะการชาร์จไฟที่เต็มแล้วนั่นเอง
ปุ่มควบคุมและการบังคับ
Urbanears Stadion จัดวางปุ่มควบคุมไว้บริเวณหลังหัวของเราเนื่องจากเป็นหูฟังบลูทูธแบบคล้องรอบหัว โดยมีด้วยกันอยู่ 3 ปุ่มคือปุ่มเพิ่ม/ลดเสียงที่อยู่ทางขวาและซ้ายมือ และปุ่มสำหรับการเปิด/ปิดหูฟัง และการเชื่อมต่อ (เมื่อกดค้าง) รวมถึงใช้เพื่อการบังคับเล่น/หยุดเพลงที่อยู่ตรงกลางระหว่างปุ่ม เพิ่ม/ลด เสียง
ปุ่มหูฟังทั้งสามปุ่มนั้นถือว่าครอบคลุมความจำเป็นเมื่อเราต้องใช้งานฟังเพลงระหว่างการออกกำลังกาย และมีการจัดวางไว้ในตำแหน่งที่เหมาะสมและสะดวกต่อการกด ตัวปุ่มกดนั้นเป็นยางนูนที่ให้สัมผัสความรู้สึกแบบการคลิกเมื่อกดลงไป ซึ่งก็ให้ความรู้สึกที่ดีทีเดียว โดยรวมแล้วถือว่าปุ่มกดนั้นทำออกมาได้ดี จัดวางได้อย่างเหมาะสม และมีเพียงพอต่อการใช้งานยามออกกำลังกาย ที่สำคัญคือดูเป็นปุ่มที่สามารถทนต่อเหงื่อที่มีอยู่มากตรงบริเวณต้นคอเวลาที่เราออกกำลังกายได้จริงๆ ซึ่งช่วยเพิ่มความมั่นใจในการใช้งานในเวลาที่เหงื่อทะลักออกมากได้เป็นอย่างดี
การเชื่อมต่อและคุณภาพสัญญาณ
การเชื่อมต่อหูฟังเข้ากับอุปกรณ์ของเรานั้นเป็นเพียงขั้นตอนง่ายๆ ที่สามารถทำตามได้อย่างไม่มีปัญหาอะไร โดยเราต้องกดปุ่มตรงกลางค้างเอาไว้สักพักจนมีเสียงสัญญาณการเชื่อมต่อดังขึ้นและไฟ LED ฝั่งตรงข้ามกับพอร์ตชาร์จเปลี่ยนเป็นสีฟ้ากระพริบ จากนั้นก็มองหา Stadion ในเมนูอุปกรณ์บลูทูธที่กำลังพยายามทำการเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนของเราแล้วกดเชื่อมต่อก็เป็นอันเรียบร้อย
ปัญหาจริงๆ นั้นไม่ได้อยู่ที่การเชื่อมต่ออุปกรณ์เข้ากับตัวหูฟัง Urbanears Stadion หากแต่เป็นคุณภาพสัญญาณบลูทูธของมันเองนี่ล่ะ จากที่ได้ใช้งานมาอเล็กซ์พบปัญหาเรื่องสัญญาณหลุดระหว่างที่มีการเชื่อมต่ออยู่บ่อยครั้งมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออยู่ในยิมที่ซึ่งมีคลื่นสัญญาณอื่นๆ มากมายจากอุปกรณ์หลายๆ อย่างที่พร้อมใจกันปล่อยออกมารบกวนเจ้า Urbanears Stadion ที่กำลังเชื่อมต่อกับมือถือเราผ่านทางบลูทูธนี้ โดยส่วนตัวแล้วก็มีประสบการณ์ที่ไม่สวยหรูนักกับหูฟังบลูทูธสำหรับการออกกำลังกายตัวโปรดอย่าง Jaybirds X2 ที่รองรับการเชื่อมต่อ Bluetooth 2.1 รุ่นเก่า แต่ดูเหมือนว่าหากเทียบระยะความห่างระหว่างหูฟังกับตัวส่งสัญญาณตัวเดียวกัน (Samsung Galaxy S8) ในยิมสถานที่เดียวกันแล้ว Urbanears Stadion จะทำได้เสถียรน้อยกว่าผลิตภัณฑ์ที่ใช้ Bluetooth เวอร์ชั่นเก่าและออกมาหลายปีแล้วเสียอีก แต่ทั้งนี้ก็ต้องแจ้งตรงนี้ก่อนว่า APPDISQUS เองไม่มีข้อมูลเวอร์ชั่นของบลูทูธในเจ้า Stadion ซึ่งอาจจะเป็นเวอร์ชั่น 2.1 เช่นเดียวกันก็ได้ (แต่ไม่น่าจะใช่ 4.0)
คุณภาพเสียง
หัวใจสำคัญของการวัดคุณภาพของหูฟังสักตัวนั้นไม่ได้อยู่ที่การออกแบบดีไซน์หรืออะไรที่กล่าวมาแล้วข้างต้นมากไปกว่าคุณภาพเสียงของมันเองนี่ล่ะครับ ซึ่งแน่นอนว่าอเล็กซ์เองก็ไม่ได้คาดหวังคุณภาพเสียงระดับเทพจากหูฟังบลูทูธอยู่แล้ว แต่ด้วยชื่อชั้นของ Urbanears ที่ก็ไม่ธรรมดานักก็ทำให้เราอดคิดไม่ได้ว่าอย่างน้อยๆ แล้วเราน่าจะได้อุปกรณ์บลูทูธที่คุณภาพเสียงก็ต้องพอจะมีจุดเด่นบ้างอยู่พอตัวเหมือนกัน
ผิดคาดที่ครั้งนี้ Urbanears ไม่ได้ทำให้เกิดสุนทรีย์การฟังเพลงระหว่างการออกกำลังกายอะไรเป็นพิเศษเลย เจ้า Urbanears Stadion นั้นให้เสียงที่ไม่โดดเด่นเลยไม่ว่าจะเป็นด้านไหนก็ตาม จริงอยู่ว่านี่เป็นหูฟังสำหรับการออกกำลังกาย เสียงอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ต้องโฟกัสมากนัก แต่อย่างน้อยแล้วคนออกกำลังกายก็มีหัวใจ การได้เบสทึบๆ ดนตรีหนักๆ ช่วยกระตุ้นหัวใจระหว่างการออกกำลังกายนั้นน่าจะดีกว่าการได้ฟังอะไรที่เบสแทบจะหายไปทั้งลูกแบบนี้
ตัดเบสทิ้งไป คุณภาพเสียงในย่านอื่นๆ เองก็ไม่ได้มีจุดเด่นอะไรเลย เสียงย่านกลางนั้นค่อนข้างจะติดจืดชืด ในขณะที่ย่านเสียงสูงนั้นก็สูงโดดไปมาก กอปรกับเสียงเบสที่แทบจะหายไปทั้งลูกแล้วด้วย การฟังเพลงด้วยเจ้า Urbanears Stadion นั้นแทบไม่ได้ปลุกเร้าอารมณ์การออกกำลังกายให้เกิดขึ้นได้สักเท่าไหร่นัก ซึ่งในส่วนนี้คิดว่าหูฟังบลูทูธในราคาใกล้เคียงกันอย่างซีรีส์ Backbeat ของ Plantronics อย่าง Backbeat Go 2 นั้นยังทำได้ดีกว่าเสียอีก หรือแม้แต่หูฟังเน้นออกกำลังกายเหมือนกันจากซีรีส์ Backbeat อย่าง Fit เองก็ยังขับเสียงเพลงได้ดีกว่าและกระตุ้นเร้าอารมณ์การออกกำลังกายได้มากกว่า
การใช้งานแบตเตอร์รี่
Urbanears Stadion นั้นตามสเป็กแจ้งไว้ว่าสามารถใช้งานต่อเนื่องได้นาน 7 ชั่วโมง และใช้เวลาชาร์จน้อยกว่า 2 ชั่วโมง ซึ่งก็ถือว่าเกินพอสำหรับหูฟังประเภทนี้ที่โฟกัสมาที่กลุ่มตลาดคนออกกำลังกาย และจากการได้ทดลองใช้งานจริงประมาณ 1 – 2 ชั่วโมงพบว่าตัวหูฟังเองสามารถใช้งานได้อย่างสบายไม่ต้องกังวลในเรื่องของแบตเตอร์รี่ว่าจะหมดลงหรือไม่
อย่างไรก็ตาม โดยปกติแล้วเซ็สชั่นการออกกำลังกายของอเล็กซ์นั้นจะกินเวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อครั้ง ก่อนจะได้กลับมาชาร์จแบตเตอร์รี่ที่บ้านต่อ ดังนั้นหูฟังบลูทูธหลายต่อหลายตัวที่เคยลองใช้งานจึงไม่เกิดปัญหากับตัวเองในภาคการใช้งานจริง ซึ่ง Urbanears Stadion เองก็ตอบโจทย์ในส่วนของอายุแบตเตอร์รี่ต่อการชาร์จหนึ่งรอบได้เพียงพอต่อความต้องการใช้งานของผมเช่นเดียวกัน
สรุปท้ายรีวิว
Urbanears Stadion ค่อนข้างหลุดกรอบคุณภาพของหูฟังจากแบรนด์ Urbanears ไปพอประมาณทีเดียว ซึ่งนี่ก็เป็นหูฟังไร้สายตัวแรกจากแบรนด์ Urbanears ที่อเล็กซ์ได้มีโอกาสทดสอบด้วย คุณภาพเสียงนั้นเรียกได้ว่าไม่มีอะไรโดดเด่นให้จดจำขึ้นมาได้เลย รวมถึงการสวมใส่ที่ออกแบบมาได้ไม่ค่อยสบายหูนัก ดังนั้น ณ ตอนนี้หากต้องไปยิม Stadion จึงยังไม่ใช่ตัวเลือกอันดับต้นๆ ที่อเล็กซ์จะหยิบติดตัวไปยิมด้วย
อย่างไรก็ตามสำหรับคนที่ชอบหน้าตามากกว่าเสียงแล้ว Urbanears Stadion มีดีที่การออกแบบที่ดูแปลกใหม่ แหวกแนว และโดดเด่นไม่เหมือนใครดี นอกจากนี้หูฟังยังกันเหงื่อได้อย่างเต็มประสิทธิภาพจากการทดสอบในระหว่างการออกกำลังกายประเภท Circuit Training ในคลาสที่เรียกเหงื่อได้สุดๆ (ที่ผมตัดสินใจเข้าเพื่อทดสอบประสิทธิภาพการกันเหงื่อของมันโดยเฉพาะ) ดังนั้นหากใครที่กำลังมองหาหน้าตาและความแข็งแกร่งทนทานต่อเหงื่อเพื่อการออกกำลังกายมากกว่าคุณภาพเสียงแล้วล่ะก็ Stadion อาจสามารถตอบโจทย์ในเรื่องนั้นได้
ด้วยราคาที่เปิดมาที่ 3,590 บาทของเจ้า Urbanears Stadion นั้นทำให้มันมีคู่แข่งในตลาดเดียวกันที่น่าสนใจตัวอื่นๆ อีกพอประมาณ ดังนั้นก่อนจะเลือกหยิบจับตัวนี้ อเล็กซ์อยากให้เพื่อนๆ ได้ไปลองทดสอบฟังเสียงและความรู้สึกตอนสวมใส่ดูก่อน โดยเทียบกับแบรนด์อื่นๆ ที่ใกล้เคียงกัน (เช่น Plantronics Backbeat Fit) ก่อนการตัดสินใจน่าจะดีกว่า หรือหากใครงบสูงกว่านั้น Jaybirds ก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกสำหรับคนออกกำลังกายที่ต้องการหูฟังบลูทูธดีๆ สักตัวที่ทำได้ดีจริงและจบในตัวเดียวและยังคงครองอันดับหนึ่งในใจของอเล็กซ์อยู่มาจนถึงปัจจุบันนี้