ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีแบตเตอรี่มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ล่าสุด “แบตเตอรี่ Silicon-Carbon” กำลังกลายเป็นหัวข้อที่ถูกพูดถึงอย่างมาก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมสมาร์ตโฟนที่มีการแข่งขันสูง ทั้งในแง่ของระยะเวลาใช้งาน ความปลอดภัย และประสิทธิภาพการชาร์จเร็ว ผู้ผลิตหลายรายเริ่มนำแบตเตอรี่ชนิดนี้เข้ามาใช้แล้ว เช่น สมาร์ตโฟนรุ่นใหม่ในตลาดจีนที่เปิดตัวในปี 2024 ซึ่งกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ส่งผลต่อทิศทางของเทคโนโลยีแบตเตอรี่ในอนาคต
ปัจจัยที่ทำให้ แบตเตอรี่ Silicon-Carbon ได้รับความสนใจคือ คุณสมบัติที่สามารถเพิ่มความจุพลังงานได้มากกว่าแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนแบบเดิม รองรับการชาร์จเร็วได้ดีขึ้น และลดปัญหาความเสื่อมของแบตเตอรี่ที่เกิดจากการใช้งานต่อเนื่องในระยะยาว จึงตอบโจทย์ผู้ใช้งานสมาร์ตโฟนยุคใหม่ที่ต้องการอุปกรณ์ที่ใช้งานได้ตลอดวันและชาร์จแบตได้ในเวลาอันสั้น
Silicon-Carbon คืออะไร แตกต่างจากแบตเตอรี่เดิมอย่างไร
แบตเตอรี่ Silicon-Carbon เป็นการพัฒนาต่อยอดจากแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน (Li-ion) โดยมีการใช้ซิลิคอน (Silicon) ผสมกับคาร์บอน (Carbon) เป็นวัสดุหลักในขั้วแอโนด (Anode) ซึ่งเป็นส่วนที่ทำหน้าที่กักเก็บลิเธียมไอออนระหว่างการชาร์จไฟ
ปกติแล้ว แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนทั่วไปจะใช้กราไฟต์ (Graphite) เป็นวัสดุหลักในขั้วแอโนด แต่ซิลิคอนสามารถกักเก็บลิเธียมไอออนได้มากกว่า ทำให้มีความหนาแน่นพลังงานสูงขึ้น กล่าวคือ ในขนาดพื้นที่เท่ากัน แบตเตอรี่ Silicon-Carbon สามารถเก็บไฟได้มากกว่าแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนแบบกราไฟต์นั้นเอง
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาวัสดุซิลิคอนยังมีข้อเสียคือ เมื่อทำปฏิกิริยากับลิเธียม จะเกิดการขยายตัวและหดตัว ส่งผลให้แบตเตอรี่เสื่อมสภาพเร็วขึ้น แต่การผสมคาร์บอนเข้ามาในเทคโนโลยีใหม่จึงเป็นการแก้ปัญหาดังกล่าว ช่วยเพิ่มเสถียรภาพให้กับโครงสร้างแบตเตอรี่ และลดผลกระทบจากการขยายตัวของซิลิคอน
ข้อดีของแบตเตอรี่ Silicon-Carbon ในสมาร์ตโฟนยุคใหม่
-
เพิ่มความจุพลังงานมากขึ้น สมาร์ตโฟนที่ใช้ แบตเตอรี่ Silicon-Carbon สามารถบรรจุพลังงานได้มากขึ้น โดยที่ขนาดของแบตเตอรี่ไม่ได้ใหญ่ขึ้นตาม ส่งผลให้ผู้ผลิตสามารถออกแบบสมาร์ตโฟนที่บางลง เบาขึ้น หรือเลือกเพิ่มความจุแบตให้มากขึ้นได้โดยไม่เปลืองพื้นที่
-
รองรับการชาร์จเร็วระดับสูง ด้วยโครงสร้างวัสดุที่พัฒนาให้รองรับการไหลของกระแสไฟสูงขึ้น ทำให้ แบตเตอรี่ Silicon-Carbon สามารถชาร์จได้เร็วกว่าแบตเตอรี่ทั่วไป หลายรุ่นรองรับเทคโนโลยีชาร์จเร็วระดับ 100W ขึ้นไป จนสามารถชาร์จแบตเต็มภายในเวลาไม่ถึง 30 นาที
-
อายุการใช้งานยาวนานขึ้น การผสมผสานระหว่างซิลิคอนและคาร์บอน ช่วยลดการเสื่อมสภาพที่มักเกิดขึ้นในแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนแบบเดิม จึงทำให้แบตเตอรี่ชนิดนี้มีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่า แม้จะใช้งานชาร์จไฟบ่อยครั้ง ก็ยังคงประสิทธิภาพใกล้เคียงของเดิม
-
ทนทานและปลอดภัยมากขึ้น เทคโนโลยีการผลิตใหม่ช่วยลดความเสี่ยงเรื่องความร้อนและการลัดวงจรที่เคยเป็นปัญหาใหญ่ของแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ทำให้สมาร์ตโฟนที่ใช้ แบตเตอรี่ Silicon-Carbon มีความปลอดภัยมากขึ้น ลดโอกาสการเกิดเหตุการณ์แบตระเบิดหรือบวม
ปัจจุบัน แบตเตอรี่ Silicon-Carbon ได้รับความนิยมใช้ในสมาร์ตโฟนหลายรุ่นจากผู้ผลิตชั้นนำในจีน เช่น Xiaomi และ Honor ได้เริ่มนำ แบตเตอรี่ Silicon-Carbon มาใช้อย่างเป็นทางการแล้ว โดยเน้นไปที่รุ่นเรือธงและสมาร์ตโฟนระดับกลางที่ต้องการความจุแบตสูงและรองรับชาร์จเร็วเป็นพิเศษ ผลตอบรับจากผู้ใช้งานจริงพบว่า สามารถใช้งานได้ตลอดวันแม้จะเป็นการใช้งานหนัก เช่น เล่นเกมหรือสตรีมวิดีโอ ขณะที่การชาร์จไฟก็ทำได้รวดเร็วทันใจ
ผู้เชี่ยวชาญในวงการเทคโนโลยีประเมินว่า ภายใน 2-3 ปีข้างหน้า แบตเตอรี่ Silicon-Carbon จะกลายเป็นมาตรฐานใหม่สำหรับสมาร์ตโฟนระดับกลางถึงระดับไฮเอนด์ ด้วยต้นทุนการผลิตที่ค่อย ๆ ลดลง และเทคโนโลยีการผลิตที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ผลิตสามารถนำมาใช้ได้ในวงกว้างมากขึ้น
แม้จะมีข้อดีหลายประการ แต่ แบตเตอรี่ Silicon-Carbon ก็ยังคงเผชิญกับความท้าทายบางประการ เช่น ต้นทุนการผลิตที่ยังสูงเมื่อเทียบกับแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนแบบเดิม อีกทั้งกระบวนการผลิตยังต้องใช้เทคโนโลยีเฉพาะทาง ส่งผลให้ผู้ผลิตรายเล็กอาจยังไม่สามารถนำไปใช้ได้ในเร็ววันนี้
อย่างไรก็ตาม ด้วยความต้องการสมาร์ตโฟนที่ใช้งานได้ยาวนานขึ้นและรองรับการชาร์จเร็ว ประกอบกับการที่ผู้ผลิตรายใหญ่เริ่มลงทุนในเทคโนโลยีนี้มากขึ้น คาดว่าภายในปี 2025 เป็นต้นไป ผู้บริโภคจะได้เห็น แบตเตอรี่ Silicon-Carbon ถูกใช้อย่างแพร่หลายในสมาร์ตโฟนรุ่นใหม่แทบทุกรุ่น
ข่าวเกี่ยวข้อง : ลือ Samsung อาจใช้เทคโนโลยีแบตเตอรี่ Silicon-Carbon ใน Galaxy S26 ความจุสูง 7,000 mAh