ถ้าจั่วหัวถามมาว่า “กันสั่น” จำเป็นมั้ย? ก็จะตอบได้เลยว่าไม่จำเป็นครับ แต่ถ้าถามว่า มีประโยชน์มั้ย? ก๋็จะตอบว่า มีประโยชน์มากครับ โดยเฉพาะในด้านการถ่ายภาพวีดีโอ
จะรู้ว่ามันมีประโยชน์อย่างไร และไม่จำเป็นอย่างไร ก็ต้องมารู้จักประโยชน์และผลลัพท์ของระบบกันสั่นกันก่อนดีกว่าครับ
กันสั่นกับภาพนิ่ง
ปกติแล้วในกฏในการถ่ายภาพ โดยเฉพาะภาพนิ่ง สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะให้ผลลัพท์ของภาพที่ดีก็คือเรื่องของ “แสง” ครับ ซึ่งจะไม่เกี่ยวกับความ “สวย” สักเท่าไหร่นะครับในเรื่องของแสง เพราะ “สวย” เกิดขึ้นได้หลากหลายวิธีมาก ไม่จำเป็นต้องคมชัดสมจริงเสมอไป ภาพมัวๆ สีแปลกๆ ก็สวยได้ มีมากมายหลายภาพที่ถ่ายมาโดยไม่ได้อาศัยกฏของแสงเลย อันนั้นอยู่ที่เทคนิคของผู้ถ่ายและมุมมองการนำเสนอ
แต่การถ่ายภาพในสภาพแสงดีๆ มันช่วยอย่างมากในเรื่องของ คุณภาพ, ความคมชัด และเปิดกว้างต่อการใช้เทคนิคต่างๆ ได้มากมาย เพราะทั้งหมดของการถ่ายภาพเริ่มต้นที่แสงซึ่งสะท้อนเข้าสู่เซนเซอร์กล้องและจัดเก็บไว้เป็นภาพบนตัวระบบนั้นเองครับ
ฉะนั้นถ้าคุณต้องการคุณภาพในด้านความคมชัด ตัวกล้องต้องอาศัยแสงที่เพียงพอ ซึ่งแสงที่เพียงพอในที่นี้ มีหลายปัจจัยที่เข้ามาผลมากเช่น
แสงจากภายนอกกล้อง –
- สภาพแสงจากธรรมชาติในขณะนั้นๆ
- หรือจะเป็นแสงจากอุปกรณ์ให้ความสว่างเช่นแสงแฟลชกล้อง ตู้ไฟหรือสปอตไลท์ที่ใช้งานเพื่อการถ่ายแบบ
แสงจากภายในกล้อง- หลักๆ ก็หมายถึง
- ขนาดรูรับแสงของกล้อง (ที่แจ้งกันเป็นค่า f ในหน้าสเปคกล้อง) ยิ่งรูรับแสงใหญ่ก็ยิ่งรับแสงได้เยอะนั้นเอง แต่ก็จะมีผลต่อระยะโฟกัสด้วย รูรับแสงยิ่งกว้างแม้จะได้แสงมากกว่า แต่ความลึกของระยะโฟกัสก็จะยิ่งแคบ ในรูรับแสงแคบแม้จะได้แสงน้อยกว่า แต่ก็ได้ระยะความลึกของความชัดยิ่งมาก ซึ่งในเรื่องของรูรับแสง มีการนำมาปรับใช้เพื่อให้ได้ผลลัพท์ของภาพตามที่ต้องการครับ อย่างที่มักจะเรียกกันว่า “ชัดลึก และ ชัดตื้น” ปกติแล้วรูรับแสงของอุปกรณ์สมาร์ทโฟนในปัจจุบัน เกือบทั้งหมดจะไม่สามารถปรับตั้งค่าได้เองตามใจผู้ใช้ครับ มีแต่ต้องปล่อยให้มันเป็นไปเองตามค่าอัตโนมัติของตัวระบบ จะมีก็แต่การจำลองปรับด้วยซอฟท์แวร์เท่านั้น
- ขนาดเซ็นเซอร์ของกล้อง เซ็นเซอร์ก็คล้ายกับแผ่นรับแสงเพื่อนำไปประมวลผลเป็นภาพให้กับเรานั้นเองครับ ซึ่งขนาดเซ็นเซอร์ที่ใหญ่ ก็จะได้แสงที่มากกว่า
ซึ่งเมื่อตัวกล้องได้รับแสงเข้ากล้องที่เพียงพอ ก็จะส่งผลให้กล้องไม่ต้องเปิดชัตเตอร์เพื่อรับแสงนานๆ (การเปิดปิดชัตเตอร์ มันคือค่าความเร็วของสปีดชัตเตอร์นั้นเอง) แค่เพียงเสี้ยววิก็จัดเก็บภาพได้แล้ว ภาพที่กล้องจับได้จึงใช้เวลาเพียงเสี้ยววิมันไวมากจนวัตถุที่เคลื่อนไหวก็กลายเป็นหยุดนิ่ง การสั่นไหวของร่างกายผู้ถ่ายก็จะไม่มีผลอะไรทั้งสิ้น เพราะเป็นช่วงเวลาที่สั้นมากๆ นั้นเองครับ
สุดท้ายผลลัพท์ที่ได้ก็คือสามารถจับภาพได้คมชัด อันนี้ก็คือการอธิบายหลักๆ ของ “แสง” กับ “การถ่ายภาพ” นะครับ แต่มันจะเกี่ยวกับระบบกันสั่นอย่างไร?
ตัวกันสั่นเป็นทางออกของเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยเรื่่องความคมชัดของภาพในแบบที่ไม่เกี่ยวกับแสง เพราะปัจจัยที่เราเห็นทั้งหลายด้านบนมันมีข้อจำกัด เมื่อแสงจากภายนอกตามธรรมชาติไม่อาจจะควบคุมได้ดั่งใจคน และก็น้อยมากที่ใครจะพกอุปกรณ์ให้แสงติดตัวไปทุกที่ตลอดเวลา ฉะนั้นเมื่อเราต้องการถ่ายภาพนิ่งในที่ๆ แสงไม่เอื้ออำนวย ก็จะเหลือแค่เพียงความสามารถในการรับแสงจากภายในกล้องเท่านั้นที่จะพอช่วยเราได้
แต่คุณภาพกล้องของสมาร์ทโฟนในระดับตลาดเดียวกัน คุณภาพก็มักจะใกล้กันมากครับ ในทางตัวเลขสเปคเราอาจจะเห็นความต่างของค่า f และ ขนาดเซ๋็นเซอร์ที่ให้ตัวเลขไว้ต่างกัน แต่ในความเป็นจริงนั้น ด้วยข้อจำกัดของขนาดเครื่อง ข้อจำกัดของตัวโมดูลกล้อง ข้อจำกัดของการควบคุมกล้อง ทั้งในด้านฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์ การจะผ่าทางตันเพื่อให้กล้องสร้างผลลัพท์ที่คมชัดของภาพได้มากขึ้นในยามที่แสงไม่เพียงพอ ก็คือการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุไปเลยนั้นเองครับ
เมื่อแสงไม่เพียงพอ ม่านชัตเตอร์กล้องก็ต้องใช้เวลามากกว่าที่ควรสำหรับการเปิดรับแสงนานขึ้น ภาพที่กล้องเห็นก็จะมีการเคลื่อนไหวมากขึ้น ซึ่งวัตถุที่เคลื่อนที่ก็จะเบลอ หรือต่อให้วัตถุหยุดอยู่กับที่ แต่ร่างกายของผู้ถ่ายก็ยังคงมีการสั่นไหวอยู่เช่นกัน เพราะมนุษย์ไม่ใช่ขาตั้งกล้อง ต้องหายใจ ต้องเกร็งกล้ามเนื้อ แม้เราจะคิดว่ามือเรานิ่ง แต่สำหรับกล้องมันไม่นิ่งมากพอครับ ซึ่งตรงจุดนี้เท่านั้น ที่ระบบกันสั่นจะเข้ามาช่วยเหลือเราได้ “มันคือการชดเชยการสั่นไหวของมนุษย์ที่กำลังถือกล้อง” เราจึงเรียกมันว่าระบบกันสั่นนั้นเองครับ
กันสั่นกับการถ่ายวีดีโอ
ร่างกายและมือเราจะมีการเคลื่อนไหว มีสั่น ทั้งในแกนตั้งและแกนนอน ตัวระบบกันสั่นของกล้องจะทำการขยับเลนส์ชดเชยการเคลื่อนไหวเล็กๆ น้อยๆ เหล่านั้นของเราให้โดยอัตโนมัติ ซึ่งระบบกันสั่นเหล่านี้จะเห็นผลชัดเจนมากยิ่งขึ้นเมื่อยามเราถ่ายวีดีโอเพราะเรามีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาครับ ไม่ว่าจะเป็นการเดินหรือการขยับมุมกล้อง สมาร์ทโฟนที่มีระบบกันสั่นจะสร้างผลลัพท์ในแบบที่มนุุษย์ปกติไม่สามารถทำได้
ซึ่งระบบกันสั่นของกล้องก็มีเทคโนโลยีที่แตกต่างกันไป มีทั้งแบบ OIS ที่เป็นระบบกันสั่นแบบฮาร์ดแวร์ และ EIS ที่เป็นระบบกันสั่นแบบซอฟท์แวร์ รวมถึงระดับความสามารถของระบบกันสั่นที่สามารถปรับสมดุลได้หลากหลายแกน บางรุ่น 4 แกน (ซ้าย, ขวา , บน, ล่าง) บางรุ่นก็ 5 แกน 6 แกน ใส่กันสั่นในแกนหมุนเข้าไปด้วย และบางรุ่นก็รองรับแค่กันสั่นให้ใช้ในการถ่ายวีดีโอ หรือถ่ายภาพนิ่งเพียงอย่างเดียว ซึ่งเดี๋ยวนี้ที่สมาร์ทโฟนมักจะมาพร้อมกับกล้องคู่ ก็ต้องดูกันอีกว่า มีกันสั่นใส่เข้ามาให้ทั้งคู่หรือเพียวตัวเดียวอีกด้วยนะครับ
ตอนนี้เพื่อนๆ น่าจะพอมองเห็นประโยชน์ที่จะได้รับเมื่อกล้องสมาร์ทโฟนของเรามีระบบกันสั่นกันแล้วนะครับ และก็น่าจะพอเข้าใจว่าระบบกันสั่นจะไม่มีผลในการใช้งานลักษณะไหนด้วย
เพราะถ้าเพื่อนๆ ถ่ายภาพนิ่ง ในที่มีแสงมากเพียงพอ กันสั่นก็ไม่จำเป็นเท่าไหร่ครับ เพราะสปีดชัตเตอร์ที่สูงมากเกินการเคลื่อนไหวของมนุษย์ ต่อให้เรากระโดดถ่ายภาพผลลัพท์ก็ยังออกมาชัดสุดๆ ได้เช่นเดิม
รวมถึงถ้านำไปถ่ายภาพนิ่งกับวัตถุที่เคลื่อนไหว แบบนั้นกันสั่นก็ไม่ช่วยนะครับ เพราะระบบกันสั่นจะช่วยแค่ในเรื่องของการเคลื่อนไหวของผูุ้ถ่ายเท่านั้นนะครับ ไม่เกี่ยวกับวัตถุทีี่จะถ่าย ถ้าจะจับการเคลื่อนไหวของวัตถุให้คมชัดก็จะยังต้องอาศัยแสงเพื่อสร้างความเร็วสปีดชัตเตอร์ให้สูงอยู่เช่นเดิม ถึงจะได้ความคมชัดตามที่ต้องการ
แต่ในด้านการถ่ายวีดีโอ เราจะเห็นผลลัพท์มากถ้าตัวกล้องสมาร์ทโฟนมีกันสั่นใส่ไว้ในฟังก์ชั่นวีดีโอ เพราะในขณะที่เราเดินถ่าย ถือถ่าย หรือนั่งถ่าย ตัวเราสั่นไหวกันทั้งนั้นครับ ซึ่งตรงนี้ไม่ได้ส่งผลกับความคมชัดของภาพเท่าไหร่แต่ภาพวีดีโอที่ได้ก็จะมีความนิ่งของภาพ ไม่แกว่งหรือส่ายมากเกินไปนั้นเองครับ
สรุปก็คือกันสั่นคือตัวช่วยที่มีประโยชน์ตัวหนึ่งจากหลายๆ ปัจจัย ที่จะสร้างผลลัพท์ที่ดีขึ้นสำหรับการถ่ายภาพในสภาพแสงไม่เพียงพอ ซึ่งมันไม่ใช่จุดตายหรือจุดขายชี้ขาดในด้านการถ่ายภาพนิ่งเพราะมันชดเชยทดแทนกันด้วยคุณภาพของกล้อง รูรับแสง เซนเซอร์ แสงจากธรรมชาติและอุปกรณ์ ฉะนั้นการที่กล้องสมาร์ทโฟนต่างรุ่นกัน ต่างแบรนด์กัน ตัวที่มีกันสั่นก็ไม่จำเป็นต้องได้ผลลัพท์ที่ดีกว่าเสมอไปครับ เพราะเป็นแค่หนึ่งปัจจัยในด้านสเปคกล้อง และอย่าลืมด้านข้อจำกัดของขนาดและเทคโนโลยีของกล้องสมาร์ทโฟนในวันนี้ บางทีคุณก็ไม่อาจจะแยกคุณภาพของมันออกได้ครับ
แต่สำหรับการถ่ายวีดีโอจะต่างออกไปครับ เพราะผลลัพท์ของมันในวันนี้ จะเห็นได้ชัดมาก ก็ต้องดูครับว่าคุณให้น้ำหนักการใช้งานไปในด้านไหนครับ และควรใส่ใจมั้ยเมื่อรู้ว่ามันมีผลต่างในการใช้งานแบบนี้