ขออภัยที่ใช้คำว่าว่า “ฟื้นฝอย” นะครับ แต่ผมอยากให้คำที่ใช้มันแทงเข้าไปในหัวใจของเราทุกคน จากการสังเกตกระแสสังคมไทย จะพบว่ากระแสหลัก ทั้งโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และการสนทนาพูดคุยกันของคนในสังคม มักได้รับอิทธิพลสูงจากกระแสในสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะการตรวจสอบ การเฝ้าระวัง การกระทำผิดของบุคคลที่มีอำนาจ ที่สังคมกระแสหลักขุดคุ้ยหรือประจานลำบาก เพราะอำนาจหรืออิทธิพลที่เขามีอยู่ แต่สำหรับสังคมออนไลน์หรือโซเชียลนั้น มันไม่ใช่ ยิ่งคุณมีอำนาจมีอิทธิพล คนในสังคมออนไลน์ก็ยิ่งชอบที่จะประจันหน้า และขุดคุ้ยช่วยกัน จนกลายเป็นกระแสสังคม กดดันให้เจ้าหน้าที่รัฐหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง ต้องออกมาทำอะไรสักอย่าง ส่งผลทำให้ผู้กระทำความผิดได้รับผลแห่งการกระทำนั้นในหลาย ๆ กรณี
อย่างไรก็ตาม สังคมออนไลน์ในปัจจุบันก็มีจุดอ่อนที่สำคัญ ที่ผู้ได้รับผลกระทบจากกระแสในสังคมออนไลน์รู้ และใช้มันให้เป็นประโยชน์ หนึ่งหละคือจุดติดง่าย ขอแค่ปั้นเรื่องใส่อารมณ์และตรรกะแรง ๆ คนในสังคมออนไลน์ก็พร้อมที่จะเชื่อ ด่า และแชร์ต่อ จนพักหลังสังคมออนไลน์เริ่มปรับตัว เริ่มมีแฟนเพจที่จะมาจ้องจับผิดพวกปั่นกระแสในลักษณะนี้ จนทำให้หลายคน หลายกลุ่มดับอนาภมานักต่อนัก จุดอ่อนที่สอง ที่เรายังแก้ไม่หาย และยังคงเป็นปัญหาอยู่ ก็คือ เมื่อกระแสมันจุดติดง่าย มันก็ดับลงง่ายเช่นกัน แต่ที่ดับลงไม่ใช่เพราะเราไม่สนใจนะ มันดับลงเพราะมันมีกระแสใหม่ ๆ มา ทำให้คนไม่พูดถึงหรือจับตามอง ทีนี้ผู้ที่สมควรถูกตรวจสอบหรือได้รับผลกระทบก็นอนตีพุงแล้วคิดในใจว่า “ตูรอดแล้ว”
แม้ตอนนี้ยังไม่มีวิธีแก้ไขหรือไม่มีแฟนเพจที่จะมาทำให้กระแสไม่ดับไป เราก็พอจะมาทบทวนกันได้บ้างครับ ทบทวนว่ามีเรื่องอะไรบ้างที่เราหลงลืมไปในช่วงที่ผ่านมา เราก็จะได้จับตาและเฝ้ามอง ไม่ให้มันหายไปกับสายลมและแสงแดด … แล้วที่ผ่านมามีเรื่องอะไรบ้างนะ??
ข่าวในโซเชียลที่ตกกระแส เราจะปล่อยผ่านหรือฟื้นฝอย?
คำตอบสำหรับคำถามนี้ ทุกคนต้องตอบไปในทางเดียวกันแน่นอนว่า เราต้อง “ขุดคุ้ยและฟื้นฝอย” มันออกมาเรื่อย ๆ จนผู้กระทำผิดหรือเรื่องราวต่าง ๆ มันคลายปม และได้รับผลในสิ่งที่สมควรได้รับ … ดังเรื่องราวที่เรากระแสหายไปเพราะโดนเรื่องราวของ “หญิงไก่” และ “ลิขสิทธิ์เพลง” กลบกระแสไปในช่วงที่ผ่านมา ตัวอย่างเช่น เสือวัดหลวงตาบัว วัดธรรมกาย ป่าที่น่าน วิกรมกับนกเงือก เขื่อน รถโบราณของสมเด็จช่วง และอื่น ๆ อีกมากมาย เราจะทำอย่างไร ไม่ให้เรื่องมันเงียบไป แล้วคนที่เคยถูกตรวจสอบตามกระแสก็ปรบมือยินดีที่ “เรารอดแล้ว” หรือแม้แต่หน่วยงานที่เข้าไปตรวจสอบตามกระแส ก็อาจจะคุยกันว่า “เออ ตอนนี้เรื่องเงียบแล้ว เราก็ปล่อย ๆ ไม่ต้องเข้มงวดมาก กลับไปทำงานตามปกติได้แล้ว”
เราควรทำอย่างไรกับ #สังคมปลาทอง ของโซเชียลเน็ตเวิร์ค ในประเทศไทย?