ก่อนที่วงการเกม JRPG จะเต็มไปด้วยเกมโพลิกอนสามมิติและฉากคัตซีนสวยๆ เต็มไปหมดนั้น จุดเริ่มต้นของมันมาจากภาพการ์ตูนสองมิติที่ไม่ได้ดูสวยงามอลังการอะไรเท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเลยสักนิด และเพราะความสำเร็จที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องกับวงการเกมบนมือถือที่ทำให้เรายังมีโอกาสได้เห็นเกม JRPG ที่ไม่ได้เน้นหน้าตาเหล่านี้ออกมาวางจำหน่ายกันอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในนั้นก็คือ Symphony of Eternity ของ Android ที่คาดหวังว่าจะสามารถปลุกกระแส JRPG ภาพสองมิติให้กลับมาใหม่ได้อย่างที่เคยเกิดขึ้นเมื่อครั้งอดีต
อย่าแรกเลยที่อาจเกิดขึ้นในใจคุณระหว่างที่คุณอยู่ในหน้า Play Store ก่อนจะตัดสินใจดาวน์โหลดเกมก็คือเรื่องสนนราคาของเจ้า Symphony of Eternity ที่ถือว่าแพงพอควรสำหรับเกมกราฟิก 16 บิตแบบนี้ และยิ่งใน Google Play Store เองก็มีเกมให้เลือกมากมายอยู่แล้วด้วย หลายๆ คนอาจจยังรังเรว่าควรจะหยิบเกมๆ นี้มาเล่นดีไหม เพราะเหตุนี้ผมจึงขออนุญาตนำเกมเก่าที่เคยเคลียร์ไปแล้วในสมัยที่ยังใช้ Xperia Play กลับมารีวิวให้เพื่อนๆ ฟังกันตามความตั้งใจแรกตอนเล่นเกมเสร็จด้วยความหวังที่ว่ารีวิวฉบับนี้อาจจะช่วยให้เพื่อนๆ ตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่าควรจะเสียเงินเสียทองให้กับเกมๆ นี้ดีหรือไม่
[box_light]ฉาก สถานที่ และเรื่องราว[/box_light]
เกมเปิดเรื่องด้วยฉากในปราสาทใหญ่ที่ถูก Coup D’etat รุกรานอยู่ หัวหน้านายทหารจึงขอร้องให้องค์หญิงรัชทายาทรีบหนีออกจากปราสาทไปให้เร็วที่สุดก่อนที่เหล่า Coup D’etat จะบุกเข้ามาถึง ส่วนตัวเขาเองนั้นอาสาที่จะยืนหยัดต่อสู้ต่อไปแม้จะรู้ในชะตากรรมของตัวเองเป็นอย่างดี หลังจากที่จบช่วงโหมโรงเกริ่นนำในช่วงต้นแล้ว ตัวเกมก็ตัดฉากมาแนะนำให้เราได้รู้จักกับตัวละครเอกที่เราจะต้องเล่นภายในเกม เขาคนนั้นคือหนุ่มน้อยนักผจญภัยชื่อ Kreist ที่มีเจ้าโกเล็มยักษ์ Dauturu เป็นเพื่อน ทั้งสองคนกำลังพูดคุยกันว่าจะเดินทางไปยังปราสาทที่กำลังเกิดเรื่องนั้นก่อนที่หลังจากจบบทสนทนาคุณต้องเป็นผู้กุมบังเหียรบังครับตัวละครเอง
หลังจากคุณได้เริ่มบังคับตัวละครเองแล้ว เกมก็จะพาคุณเข้าสู่การแนะนำ
การเล่นในส่วนต่างๆ หนึ่งในนั้นคือคุณจะได้พบกับระบบการต่อสู้ที่ก็ไม่ได้ต่างไปจาก JRPG ทั่วไปสักเท่าไหร่นัก โดยศัตรูในเกมนั้นไม่ได้เกิดจากการแรนดอมสุ่มขึ้นมาเหมือนอย่าง JRPG บางเกม หากแต่จะมีการเรนเดอร์เป็นตัวศัตรูเดินว่อนอยู่ในฉากอยู่แล้ว ซึ่งหากเราต้องการต่อสู้ก็เพียงแค่เดินตรงเข้าไปหาพวกมัน หรือหากต้องการเลี่ยงการต่อสู้ก็ให้ทำตรงกันข้ามซะ ไม่นานจากนั้นคุณจะได้พบกับเจ้าหญิงที่สละราชวังมาในตอนแรก
บทสนทนาระหว่างช่วงที่ Kreist และ Dauturu ได้พบกับองค์หญิงนั้นจะเกริ่นให้คุณได้ทราบว่าในขณะนี้ทั้งคู่กับลังออกเดินทางตามหาอะไรบางอย่างที่มีชื่อว่า Regratlute ไอเท็มชนิดหนึ่งที่เชื่อกันว่าจะสามารถบันดาลพรใดๆ ก็ได้ให้กับผู้ถือครอง ได้ยินดังนั้น Laishutia เจ้าหญิงพลัดปราสาทก็ขออาสาร่วมเดินทางไปกับคุณด้วยเพียงเพื่อต้องการจะได้สัมผัสกับไอเท็มดังกล่าวและได้ขอพรจากมันให้ช่วยเธอยึดปราสาทของเธอคืนมาให้จงได้
เนื้อเรื่องหลังจากนี้ไปจนจบเกมถือว่าเป็นอะไรที่สนุกสนานและน่าตื่นเต้นมากครับ ทั้งการผจญภัย การค้นหาความจริงบางอย่าง การหักหลังกัน เรียกได้ว่าทาง Kemco เตรียมการกับเนื้อเรื่องของเกมมาอย่างดีและแยบยลจนคนที่ชอบเล่นเกมแนว JRPG อยู่แล้วจะรู้สึกเต็มอิ่มกับงานด้านเนื้อเรื่องได้ไม่ยากเลยจริงๆ
[box_light]เกมเพลย์[/box_light]
เช่นเดียวกับเกมแนว JRPG อื่นๆ ที่ในส่วนของเกมเพลย์สามารถแบ่งแยกออกได้เป็นสามเซ็คชั่นย่อย เซ็คชั่นแรกคือในส่วนของฉากแผนที่ต่างๆ ที่คุณสามารถเดินทางจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งได้โดยต้องผ่านทางบนฉากแผนที่ไป ใน Symphony of Eternity นั้นคุณสามารถเรียกแผนที่โลกขึ้นมาดูได้พร้อมกับสัญลักษณ์ที่จะบอกคุณบนแผนที่โลกว่าที่ต่อไปที่จะต้องไปเพื่อทำภาระกิจนั้นคือที่ใด ซึ่งรูปแบบแผนที่และมาร์กบนแผนที่เพื่อบอกจุดหมายต่อไปนี้ถือเป็นเรื่องดีมากสำหรับเกมบนมือถือที่เราอาจจำเป็นต้องปิดเกมระหว่างเล่นบ่อยๆ เพราะบางครั้งเราอาจลืมภาระกิจและสถานที่ๆ เราจะต้องไปเอาได้ดื้อๆ เหมือนกันนะครับ นอกจากนี้บนแผนที่ยังแสดงภูมิทัศน์ประจำฉากให้เราได้เห็นกันอีกด้วยซึ่งถือเป็นประโยชน์แบบสุดๆ เลยล่ะครับเวลาที่เราอยู่ในดันเจึ้ยน
ปุ่มออนสกรีนบางๆ ที่อยู่บนหน้าจอคุณจะใช้สำหรับการควบคุมตัวละครให้เดินไปในทิศทางและทำตามคำสั่งที่เราต้องการ แต่หากคุณไม่ชอบปุ่มดีแพดแบบนี้ก็สามารถเลือกเป็นปุ่มลักษณะอนาล๊อกสติ๊กแทนได้แต่สำหรับผมแล้วผมคิดว่ามันค่อนข้างจะบังทัศนียภาพของเกมไปสักหน่อยเวลาที่เลือกออฟชั่นนี้ (เนื่องจากผมเล่นบน Xperia Play แน่นอนว่าทางเลือกที่ดีที่สุดของผมคือการใช้จอยของ Xperia Play เล่นเลยเพราะตัวเกมรองรับการบังคับผ่านจอยฮาร์ดแวร์อยู่แล้ว)
ส่วนสุดท้ายของเกมเพลย์ที่จะต้องพูดถึงก็คือในส่วนของรูปแบบการต่อสู้ โดยในฉากต่อสู้นั้น คุณและเพื่อนๆ จะยืนเรียงแถวหน้ากระดานกันทางขวาของจอ ส่วนศัตรูของคุณนั้นอยู่ทางซ้ายมือ ด้านล่างของจอเป็นสถานะและค่าพลังต่างๆ ของทีมของคุณ และเมื่อถึงคิวคุณต้องต่อสู้ ชุดคำสั่งต่างๆ ในการต่อสู้ก็จะปรากฏขึ้นมา ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่มีอะไรยุ่งยากหรือแตกต่างออกไปจากเกม JRPG ทั่วๆ ไปที่เราคุยเคยเลย
เมนูต่างๆ ภายในเกมนั้นสามารถเข้าถึงได้ตลอดเวลาเว้นแต่เวลาที่กำลังอยู่ในฉากต่อสู้เท่านั้น ซึ่งเมนูย่อยต่างๆ นั้นจะอนุญาตให้คุณสามารถปรับเปลี่ยนอาวุธของตัวละคร ใช้ไอเท็มเพื่อเพิ่มพลังหรือเพื่อรักษาสถานะโรคต่างๆ ที่ติดมาจากศัตรูในระหว่างการต่อสู้ นอกจากนี้ยังมีระบบการเรียนรู้สกิลใหม่ๆ อยู่เมนูย่อยนี้ด้วย และที่ขาดไม่ได้เลยคือเมนูเซฟที่จะทำให้คุณสามารถเซฟเกมได้ตลอดเวลายกเว้นเวลาเข้าฉากต่อสู้เท่านั้นเช่นเดียวกัน อย่างหลังนี้ผมถือเป็นข้อดีของเกมมากเนื่องจากเราไม่จำเป็นต้องวิ่งหาจุดเซฟหรือต้องอยู่เฉพาะในฉากแผนที่เท่านั้นถึงจะเซฟได้เหมือนอย่างหลายๆ เกม ซึ่งแน่นอนว่าหากเป็นแบบหลังมันย่อมไม่เหมาะกับวงการเกมบนมือถืออย่างแน่นอน
[box_light]กราฟิกและดนตรีประกอบ[/box_light]
Symphony of Eternity ไม่ใช่เกมประเภทที่จะดึงเอาความสามารถทุกหยาดหยดของมือถือ Android คุณออกมาใช้ ไม่ได้มีงานกราฟิกหรูเลิศอลังการดาวล้านดวงอย่างเกมอื่นเขา แต่สิ่งที่คุณได้รับกลับไปก็คือความรู้สึกที่เคยเกิดขึ้นกับการได้เล่นเกม JRPG แบบดั้งเดิมเขาบ้าง มีต่างหน่อยตรงที่ภาพตัวละครต่างๆ ที่ป๊อปอัพขึ้นมาในระหว่างการสนทนานั้นสามารถขยับปากหลอกเราได้จริง ไม่เหมือนเกมรุ่นเก่าซะทีเดียวที่แม้ตัวละครจะพูดแต่ปากก็ไม่ขยับเลยสักนิด
แผนที่โลกนั้นถูกออกแบบมาเพื่อการใช้งานจริงๆ ไม่ได้เน้นในส่วนของงานกราฟิกมากมายนักเช่นเดียวกันกับส่วนอื่นๆ ของเกม แต่สิ่งหนึ่งที่น่าชื่นชมในส่วนของงานภาพคือการนำเอาภาพศัตรูต่างๆ ที่เราต้องต่อสู้ด้วยจริงหากเดินเข้าไปชนมาเดินบนแผนที่ได้อย่างแนบเนียนและทำให้ฉากแผนที่มีความเป็นไดนามิกมากยิ่งขึ้นได้นี่แหละ ซึ่งศัตรูที่คุณเห็นเดินอยู่บนฉากแผนที่นั้นก็จะเป็นศัตรูที่คุณต้องต่อสู่ด้วยจริงๆ หากเดินไปชนมันเข้า แต่คุณจะไม่มีทางรู้ก่อนได้เลยว่ามันจะมากันกี่ตัว หรือมาพร้อมกับศัตรูประเภทอื่นๆ บ้างหรือไม่
ในส่วนของงานดนตรีนั้นค่อนข้างจะธรรมดา ไม่มีอะไรน่าจดจำสักเท่าไหร่นัก ฉากแต่ละฉากจะมีงานสกอร์ของมันเอง และเมื่อจบฉากต่อสู้ก็จะมีเพลงแห่งชัยชนะเปิดขึ้นมาให้ผู้เล่นฮึกเหิมบ้างตามสไตล์เกมแนวนี้ บ่อยครั้งเหมือนกันที่เราแอบได้ยินการตัดต่อลูปเพลงเดิมๆ ที่ไม่ค่อยเนียนสักเท่าไหร่นัก ซึ่งหากไม่สนใจ หรือสามารถปล่อยผ่านรายละเอียดตรงส่วนนี้ไปได้บ้างก็ไม่ถือเป็นสาระสำคัญอะไรต่อตัวเกม
[box_light]บทสรุป[/box_light]
หากคุณกำลังมองหาเกมแบบ Final Fantasy ในยุคเก่าเพื่อเอามาเล่นบนมือถือ Android ของคุณและไม่ต้องการจะเสียเงินในระดับพรีเมี่ยมให้กับเกม Final Fantasy ที่เอามาปัดฝุ่นใหม่จาก Square Enix นั้น Symphony of Eternity ถือว่าเป็นเกมที่คุ้มค่าคุ้มราคาในตัวของมันเองเลยทีเดียว แต่หากคุณยังอยากลองเพื่อให้หายข้องใจก่อนว่าจะคุ้มค่ากับเงินที่เสียไปไหมนั้นผมก็แนะนำให้ลองดาวน์โหลดมาเล่นดูครับเพราะช่วงเกริ่นเข้าเกมนั้นมันสั้นมากจนคุณมีเวลาเหลือเฟือที่จะเข้าสู้เนื้อหาการเล่นจริงๆ จังๆ ของเกมภายในระยะเวลา 15 นาทีที่ Google อนุญาตให้รีฟันด์เงินได้ แต่หากคุณรู้สึกว่าการต้องจ่ายเงินประมาณ 110 บาทยังเป็นเรื่องทำใจยากกับการได้รับเกมในระดับนี้อยู่แล้วล่ะก็ ผมแนะนำให้คุณลองหาทางเลือกอื่นเช่นพวกอีมูต่างๆ มาลงเครื่องแอนดรอยด์ของคุณแล้วเล่นดูแทนแล้วล่ะครับ
โดยภาพรวมแล้ว Symphony of Eternity ถือว่าเป็นเกมที่มีดีในตัวของมันเองอีกหนึ่งเกมจากค่ายที่สร้างสันเกม JRPG คุณภาพอย่าง Kemco เลยทีเดียว Kreist Dauturu และ Laishutia จะทำให้คุณหายคิดถึงวันเก่าๆ สมัยที่ SNES ยังเริงอำนาจได้อย่างไม่ยากเย็นนัก และคุณจะหลงรักมันเช่นเดียวกับที่คุณเคยหลงรักเกม JRPG เก่าๆ อย่าง Final Fantasy I – II และ Dragon Quest ภาคแรกๆ อีกครั้ง
[box_info]ทิ้งท้ายก่อนจบ[/box_info]
Kemco ประกาศออกภาคต่ออีกภาคของ Symphony of Eternity แล้วนะครับ โดยในภาคนี้นั้นมีชื่อว่า Symphony of Origin ถือเป็นภาคก่อนหน้า Symphony of Eternity อีกที ในตอนนี้ฉบับภาษาญี่ปุ่นออกให่ได้ดาวน์โหลดเล่นกันแล้วใน Play Store สำหรับภาษาอังกฤษนั้นกำหนดเดิมคือปลายปีนี้ แต่คาดว่าน่าจะไม่ทัน คงต้อเลื่อนไปเป็นต้นปีหน้าแล้วล่ะครับ ภาพถูกพัฒนาให้สวยขึ้นมากที่เดียว ใครสนใจสามารถดูสกรีนช๊อตและดาวน์โหลดได้จากลิงก์เลยครับ
[gradeB]