Kemco เคยสร้างความประทับใจครั้งสำคัญไว้ให้กับ APPDISQUS ในตอนที่เปิดวางจำหน่าย Symphony of Eternity เกมในตระกูล JRPG ที่มีครบทุกองค์ประกอบของการเป็นเกมอาร์พีจีชั้นเยี่ยมจนอาจเรียกได้ว่าแอบสร้างมาตรฐานเล็กๆ ไว้ให้กับเกมบทมือถือเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อว่ากันถึงเกมบนมือถือ Android ในสมัยก่อนที่เหล่าเกม JRPG น้ำดีเเกมอื่นๆ เช่นซีรีส์ Chaos Rings จะตามมาเปิดตัวให้ และแน่นอนว่าความประทับใจในครั้งนั้นส่งผลให้ Symphony of Eternity ได้รับคะแนนจาก Alex ไปถึง 76% อย่างไม่ยากเย็นอะไรนัก
อาจเพราะความสำเร็จในตลาดโลกหรืออะไรสักอย่างที่เราเองก็ไม่แน่ใจ Kemco ได้ตัดสินใจรังสรรค์ผลงานคุณภาพภาคใหม่ของซีรีส์ Symphony ขึ้นมา โดยในครั้งนี้มาภายใต้ชื่อ Symphony of the Origin ที่พัฒนาขึ้นทั้งงานภาพ งานเสียง ระบบต่อสู้ และฉากเรนเดอร์ต่างๆ จนอาจเรียกได้ว่าเป็นการยกเครื่องใหม่แทบทั้งหมด แต่การยกเครื่องใหม่ในครั้งนี้ของ Kemco และ Symphony of the Origin จะดีพอให้ Alex เองที่เปรียบเสมือนแฟนเดนตายของซีรีส์ไปแล้วกลับมาประทับใจได้อีกครั้งหรือไม่ มาร่วมหาคำตอบกันภายในรีวิวจัดเต็มให้สมกับชั่วโมงเล่นที่สูญเสียไป (อีกเช่นเคย)
[box_light]จุดกำเนิดตำนานแห่งผู้กล้า[/box_light]
เรื่องราวในภาคนี้นั้นเปิดตัวมาอย่างเรียบราบตามสไตล์เกม JRPG ทั่วไปครับ เหล่าปีศาจร้ายต่างพากันกรูเข้ามาบุกปราสาทที่มีพระเอกเป็นหนึ่งในทหารประจำการและเริ่มทำลายไพร่พลล้มตายกันเป็นเบือก่อนที่ท้ายที่สุดแล้วจะได้มาประจัญหน้ากับพระเอกจริงๆ ในระหว่างที่เนื้อเรื่องเปิดตัวดำเนินไปเรื่อยๆ นี้ คุณจะได้รับทราบข้อมูลของตัวละครเอก Ryle ที่คุณกำลังสวมบทบาทอยู่นี้พร้อมด้วยเหตุผล (ขั้นต้น) ที่เขาจำเป็นต้องยกดาบขึ้นมาต่อกรกับเหล่า “ปีศาจร้ายจากแกนโลก (Evils of the Earth-depths)” ที่บุกขึ้นมาอาละวาดในครั้งนี้ ชะตากรรมของ Ryle ตกอยู่ในสถานการณ์ที่เรียกได้ว่าหน้าสิ่วหน้าขวานแบบสุดๆ กับการต้องเผชิญหน้ากับปีศาจร้าย (Evils) ตนหนึ่งที่มีพลังกำลังเหนือทหารฝึกหัดผู้อัดแน่นไปด้วยความแค้นส่วนตัวอยู่มากนัก Ryle พลัดตกลงไปยังชั้นใต้ดินของปราสาทที่เขาไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่ามันมีอยู่จริงจากแรงการโจมตีของปีศาจร้ายตนนั้น ณ ที่นั่น เขาได้ปลุกชีวิตของโกเล็มที่มีหัวใจและสมองเป็นของตัวเองนาม Denoas และด้วยความช่วยเหลือของ Denoas ทำให้ Ryle สามารถรอดพ้นการโจมตีของปีศาจร้ายหรือ Evils ตนนั้นได้ก่อนจะหมดสติไปทั้งคู่โดยยังไม่ทันได้รับรู้ว่าโกเล็ม Denoas ที่เขาปลุกชีพขึ้นมานี้และตัวของเขาเองผูกชะตาจต้องกันที่อาจนำพาไปสู่ทางรอดพ้นของโลกจากการจู่โจมของปีศาจร้ายจากแกนโลกนี้
ภายในเกมจะมีหมอดูคนหนึ่งที่ชื่อ Rooshay เขาคนนี้เดินทางไปอยู่ในทุกมุมโลกที่คุณไปและเป็นคนที่มีความสำคัญมากสำหรับผู้เล่น (อย่างน้อยก็สำหรับเพราะ) เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณเผลอกดข้ามไม่อ่านเนื้อเรื่องไป หรือมีความจำเป็นต้องหยุดเล่นเกมไปเป็นเวลานานๆ จนทำให้ลืมว่าเนื้อเรื่อของตัวเองถึงไหนแล้วและต้องทำภารกิจอะไรต่อไปโดยไม่จำเป็นต้องไปคุยกับ NPC ทุกตัวที่คุณเจอในเกมเพื่อหาทางไปต่อ สำหรับนักเล่นเกมท่านอื่น Rooshay อาจไม่สำคัญเท่าไหร่นัก แต่สำหรับนักเล่นเกมสมองปลาทองอย่างผมนี่นาย Rooshay เปรียบเสมือนพระเจ้าภายในเกมเลยทีเดียวล่ะครับ
Symphony of the Origin เป็นเกมอาร์พีจีแบบโลกเปิด คือไม่ได้บังคับผู้เล่นว่าจะต้องเดินตามทางเด๊ะๆ ไปเรื่อยๆ แบบห้ามออกนอกลู่เลย เพราะเหตุนี้ระบบของตัวเกมจึงเอื้อให้มีเควสเสริมเกิดขึ้นตลอดเวลา เควสแต่ละอย่างจะไม่ได้ออกแนวบังคับคุณว่าต้องเดินทางไปโน่นนี่นั่นแบบตรงจุดแป๊ะๆ เพื่อจะได้สำเร็จเควสเหล่านั้นได้ สำหรับผมแล้วนี่ถือเรื่องข้อดีเพราะบ่อยครั้งที่ผมปิดเควสย่อยได้ในระหว่างการทำเนื้อเรื่องหลักเลย
[box_light]ตัวละครและบทสนทนา[/box_light]
Ryle คือตัวละครเอกของเกมที่คุณจะต้องสวมบทบาทเป็น บางครั้ง Ryle เองก็ดูจะเสียงดังและชอบทำอะไรแปลกๆ ที่ดูไม่น่าจะมีใครทำในชีวิตจริงเท่าไหร่นักไปบ้าง แต่ตลอดระยะเวลาที่คุณต้องสวมบทบาทเป็นเขา คุณจะได้ค้นพบกับความเจริญเติบโตทั้งทางร่างกายและความคิดของตัวละครตัวนี้จนท้ายที่สุดแล้วคุณจะอดตกหลุมรักและรู้สึกผูกพันธ์กับเขาไปไม่ได้เลย ความสัมพันธ์ระหว่าง Ryle และโกเล็ม Denoas ที่เขาปลุกชีพขึ้นมานั้นถือเป็นส่วนเด็ดของเนื้อเรื่องในหลายๆ ฉากเลยทีเดียว และ Kemco ก็สามารถถ่ายทอดเรื่องราวความสัมพันธ์ของตัวละครทั้งคู่ออกมาได้อย่างน่าประทับใจ
ตัวละครอื่นๆ นอกเหนือจากสองตัวละครนี้ล้วนแล้วแต่เป็นไปตามแบบฉบับของเกมแนว JRPG ทั่วๆ ไป ทุกๆ ตัวละครต่างก็มีบุคลิกและความสามารถเป็นของตัวเองแบบชัดเจนตามสไตล์เกมภาษาที่เห็นกันอยู่ แต่ Kemco เก่งพอที่จะทำให้บุคลิกและความสามารถของตัวละครแต่ละตัวนั้นโดดเด่นและน่าสนใจจนเป็นที่จดจำของผู้เล่นได้ไม่ในทางใดก็ทางหนึ่ง หลายๆ ช่วงที่คุณเล่นเกมอยู่แล้วพบว่าตัวคุณกำลังหัวเราะร่ากับวีรกรรมและคำพูดของตัวละครแต่ละตัวจนอาจเผลอลืมรักษาภาพจากคนรอบตัวไป แต่ในบางจังหวะมุกตลกเหล่านั้นก็ดูจะพยายามยัดเยียดเข้ามาเพื่อเรียกเสียงหัวเราะจนอาจจะเกิดความอึดอัดใจระหว่างการเล่นไปบ้าง แต่นั้นก็ไม่สามารถปั่นทอนความตลกของเนื้อเรื่องหลักโดยรวมได้เลย หนึ่งในฉากที่ผมอดขำไม่ได้ระหว่างการเล่นก็คือฉากที่ Ryle พยายามใช้ความคิดร่วมกับ Denoas อย่างหนักว่าตัวละครตัวหนึ่งที่อยู่ตรงหน้าตนนั้นเป็นเพศหญิงหรือเพศชายกันแน่ ซึ่งการที่ได้เห็นเกมสักเกมกล้าที่จะเอาตัวละครของตัวเองมาล้อเลียนได้น่ารักแบบนี้นั้นเป็นอะไรที่พออกพอใจมากทีเดียว
แต่สิ่งหนึ่งที่อยากจะขอติในส่วนของตัวละครและบทพูดนั้นน่าจะเป็นเรื่องของปัญหาในการแปลบทพูดแต่ละส่วนมากกว่า บ่อยครั้งเหมือนกันที่เราจะได้เห็นการแปลประโยคโดยการใช้คำๆ เดียวกันซ้ำไปซ้ำมาจนอ่านแล้วไม่ลื่นไหล และในบางประโยคก็รู้สึกได้โดยไม่ต้องเป็นเจ้าของภาษาเลยว่ามันผิดแกรมม่าไปอย่างแน่นอน และสำหรับเกมประเภทนี้แล้ว บทและการแปลถือเป็นหัวใจของมันเลยก็ว่าได้ แม้เนื้อเรื่องจะสนุกสักเพียงใด แต่หากผู้แปลไม่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวออกมาได้อย่างลื่นไหลแล้วก็อาจทำให้อารมณ์ของผู้เล่นดรอปลงไปได้บ้างไม่มากก็น้อยในบางฉากเช่นกัน ดังนั้นหากคุณเป็นคนที่ละเมียดในการอ่านบทสนทนาของตัวละครเวลาที่เล่นเกมแล้วล่ะก็ ผมอยากที่จะให้คุณลองพยายามจูนตัวเองให้ผ่านพ้นภาษาแปลแบบแปลกๆ ไปให้ได้ รับรองว่าไม่นานหรอกครับ เพราะเมื่อผ่านไปเรื่อยๆ คุณจะค่อยๆ ชินและเริ่มรู้สึกว่าการแปลแปลกๆ นี่ก็แอบมีเสน่ห์ดีเหมือนกัน อย่างน้อยก็มีอะไรให้เราได้จับผิดไปตลอดทั้งเกม =)
[box_light]การโจมตีที่มีมากกว่าอาวุธ[/box_light]
ใน Symphony of the Origin นี้ อาวุธถือเป็นปัจจัยสำคัญในการอัพเกรดตัวละครของคุณพอๆ กับค่า Merit ที่จะได้รับหลังจากการต่อสู้ไปได้สักพัก ตัวอาวุธเองถูกแยกออกเป็นสามส่วนด้วยกัน นั่นก็คือส่วนของ อาวุธโจมตี อาวุธป้องกัน และอาวุธเสริมค่าสถานะต่างๆ แต่ละส่วนมีค่าพลังแยกเป็นของมันเองและสามารถที่จะตกแต่งเพื่อให้เข้ากับการต่อสู้ในแต่ละสถานการณ์ได้อย่างชัดเจน ภายในอาวุธแต่ละชิ้นจะมีสกิลของอาวุธอยู่โดยตัวละครของคุณจะสามารถใช้สกิลเหล่านี้ได้เมื่อสวมใส่มันเข้าไป หากคุณต้องการต้องการใช้สกิลที่ติดมากับอาวุธเหล่านั้นแบบถาวร คุณจะต้องใช้อาวุธที่สวมใส่นั้นไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้ค่า AP ของอาวุธนั้นๆ ในระดับ Master ทีนี้คุณก็ไม่ต้องแคร์แล้วว่าจะต้องเสียสกิลอะไรไปเวลาที่เปลี่ยนอาวุธใหม่ เพราะเมื่อคุณมาสเตอร์อาวุธนั้นๆ แล้ว สกิลของมันจะติดตัวคุณไปตลอดทั้งเกม ที่สำคัญคืออาวุธทุกตัวในเกมสามารถนำมาตีอัพเกรดใหม่ได้เพื่อเพิ่มสกิลและความสามารถของตัวมันเองไปเรื่อยๆ
นอกจากอาวุธแล้ว อีกหนึ่งอย่างที่กล่าวไปตั้งแต่ขั้นต้นคือค่า Merit ที่คุณจะได้รับในทุกๆ 5 เลเวลที่คุณอัพขึ้นมา ค่า Merit ที่ว่านี้สามารถใช้เพื่อการเพิ่มความสามารถและความแข็งแกร่งของตัวละครของคุณได้ตามที่คุณต้องการ อย่างไรก็ตาม การเพิ่มค่าสถานะต่างๆ ด้วยค่า Merit ที่ว่านี้ไม่ได้ส่งผลอะไรมากนักกับการเล่นจริงในช่วงแต่ แต่เมื่ออัพสะสมไปเรื่อยๆ เราจะเริ่มรู้สึกได้ถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน
[box_light]การควบคุมบังคับ[/box_light]
ปัญหาหนึ่งที่คนส่วนใหญ่กังวลเกี่ยวกับเกมบนมือถือคงหนีไม่พ้นเรื่องของการควบคุมผ่านการสัมผัสหน้าจอที่ ณ ปัจจุบันนี้หาได้น้อยเกมมากๆ ที่จะสามารถทำจอยเสมือนเหล่านี้ให้สามารถใช้งานได้จริงๆ ใน Symphony Of the Origin เองก็หนีไม่ค่อยจะพ้นกับปัญหานี้ (แต่จะเรียกว่าเป็นปัญหาซะทีเดียวเลยก็ไม่ได้) ตัวเกมมีรูปแบบการบังคับให้เลือกได้สองแบบด้วยกัน อย่างที่หนึ่งคือการบังคับโดยการจิ้มไปที่หน้าจอเพื่อให้ตัวละครเราเดินไปตามที่นิ้วเราจิ้มลงไป แน่นอนว่าผมไม่เลือกวิธีนี้เพราะโดยส่วนตัวแล้วไม่เคยชอบการบังคับแบบนี้เลย และหากคุณเป็นเหมือนผม อีกหนึ่งออฟชั่นที่ตัวเกมมอบให้คือการใช้จอยเสมือนที่ “เกือบ” จะทำหน้าที่ของมันได้ดีแล้วเชียว แต่ท้ายที่สุดแล้วก็ยังไม่ดีพอที่จะได้คำชมจากเราไปอยู่ดี ปัญหาจากการบังคับหลักๆ ที่เราพบคือระยะการวางนิ้วที่สำหรับผมแล้วมันไม่ได้มาตรฐานเอาเสียเลย (หรือผมมันขาดมาตรฐานชายไทยไปหว่า) ทุกๆ ครั้งที่จบจากฉากต่อสู้มาและผมต้องวางนิ้วลงบนจอยเสมือนใหม่เพื่อเตรียมบังคับนั้นมันเป็นต้องแป้กทุกครั้งหากไม่ก้มลงมองจอเพื่อกะระยะนิ้วมือให้ดี และในบางครั้งเวลาที่โยกจอยเสมือนนั้นไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง จู่ๆ นิ้วมือของผมก็จะหลุดออกจากวงโคจรของจอยเสมือนนั้นไปเอาซะดื้อๆ เหมือนกัน
ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นเฉพาะในฉากที่เราต้องบังคับตัวละครเดินเท่านั้น สำหรับฉากต่อสู้แล้ว Symphony of the Origin ออกแบบมาได้อย่างยอดเยี่ยม สวยงาม และลงตัวมากๆ โดยในฉากต่อสู่ การบังคับจะเปลี่ยนเป็นการจิ้มเลือกชุดคำสั่งบนไอคอนขนาดใหญ่เบิ้ม ทำให้คุณไม่จำเป็นต้องเล็งการวางนิ้วหรือจิ้มนิ้วเลือกคำสั่งเลย และทำให้การเลือกคำสั่งของคุณถูกต้องและแม่นยำได้ตามดั่งใจต้องการจนบางครั้งแอบทำให้เราอยากจะอาศัยอยู่ในฉากต่อสู้นั่นไปยาวนาน ไม่อยากจะออกมาในฉากแผนที่เลยจริงๆ ^^
[box_light]ระบบการต่อสู้[/box_light]
สำหรับใครก็ตามที่ไม่ชอบระบบการต่อสู้แบบสุ่มเข้าฉากต่อสู้เหมือนในเกม JRPG หลายๆ เกม (เช่น Final Fantasy 4) คุณสบายใจได้เลยครับ เพราะว่าในเกมนี้คุณจะเป็นผู้ตัดสินใจเองว่าจะหนีหรือจะสู้รบปรบมือกับเหล่าปีศาจร้ายเหล่านั้น โดยหากคุณต้องการสู้กับพวกมันคุณก็แค่เดินเข้าไปชนพวกมันอย่างจัง หรือหากต้องการสู้แบบให้พวกมันไม่ทันระวังตัวเพื่อชิงการโจมตีในเทิร์นแรกก่อนก็แค่เดินเข้าไปด้านหลังพวกมัน อย่าทันให้พวกมันเห็นเราแล้วมีเครื่องหมายตกใจขึ้นบนหัวก่อน และแน่นอนว่าหากคุณต้องการหนีพวกมันไปก็แค่หลีกเลี่ยงการเดินชนพวกมันเท่านั้นเอง
นอกจากนี้ในฉากต่อสู้ยังมีฟังก์ชั่นออโต้ที่ถือว่าสำคัญมากในปัจจุบันนี้ โดยฟังก์ชั่นดังกล่าวจะทำให้คุณสามารถต่อสู้กับศัตรูในฉากต่อสู้ได้จนจบโดยไม่ต้องกดปุ่มเดิมซ้ำไปซ้ำมาให้หน่ายนิ้วมือ นี่ถือเป็นฟังก์ชั่นที่จำเป็นมากๆ ของเกม JRPG ปัจจุบันนี้ที่ต้องใช้การบังคับแบบการแตะชุดคำสั่งลงไปที่หน้าจอเลยทีเดียว ชุดคำสั่งออโต้นี้เหมาะสมมากกับการใช้โจมตีมอนสเตอร์ทั่วไป แต่หากคุณหวังจะใช้กับสเตจหัวหน้าแล้วล่ะก็คงต้องบอกว่าเปลี่ยนใจได้เลยครับ เพราะคุณอาจจะซี้ม่องเท่งไปตั้งแต่ยังไม่ได้ทำอะไรเลยเสียด้วยซ้ำ
หนึ่งในทริคที่เราอยากจะแนะนำในฉากต่อสู้คือการใช้สกิลพิเศษของนินจาสาวน้อย Karin ที่ชื่อ Haze Slash ในการโจมตีศัตรูของคุณตั้งแต่เทิร์นแรก สกิลนี้นอกจากจะทำให้คุณโจมตีศัตรูได้ไวขึ้นแล้ว ยังทำให้คุณขโมยของจากศัตรูของคุณได้อีกด้วย ซึ่งของที่ขโมยหลายๆ อย่างคือของจำเป็นภายในเกมที่ถ้าหากต้องซื้อก็คงเสียเงินกันไม่น้อยเลยทีเดียว อีกอย่างที่อยากจะย้ำไว้ตรงนี้คือการใช้สกิลทุกครั้งจะต้องแลกด้วยค่าพลังสกิลที่ลดลง แต่เมื่อจบการต่อสู้ดูเหมือนมันจะเพิ่มขึ้นไปเต็มหลอดหรือเกือบเต็มอีกหนแทบทุกครั้งซึ่งผมเองก็ยังไม่เข้าใจหลักการของมันในจุดนี้ทั้งๆ ที่เล่นไปจนจบแล้ว
บอสบางตัวจะมีค่าพลังจากอาวุธชุดเกราะที่บอสตัวนั้นๆ สวมใส่อยู่และค่าพลังชีวิตของบอสจริงๆ เกราะพวกนี้จะแตกหักและพังไปเองเมื่อโดยโจมตีไปได้ตามที่พลังมันจะมี และเมื่อมันพัง พลังป้องกันหรือพลังโจมตีที่เกี่ยวข้องกับอาวุธหรือเกราะนั้นๆ ที่พังไปจะลดลงด้วย เรียกได้ว่าผกผันตามจริงหมดเลย ดังนั้นการวางแผนการต่อสู้ต่อหนึ่งฉากการต่อสู้ดีๆ จะยิ่งทำให้คุณมีโอกาสมีชัยเหนือศัตรูทุกตัวได้อย่างง่ายดายมายิ่งขึ้นนะครับ
[box_light]SOP หรือระบบซื้อพอยต์ด้วยเงินจริง[/box_light]
โดยปกติแล้วผมไม่ค่อยชอบเเกมที่ใส่ระบบการซื้อของด้วยเงินจริงมาไว้ภายในตัวเกม เพราะเกมเหล่านั้นส่วนใหญ่แล้วจะชอบขี้โกงคนเล่นโดยการบังคับให้ซื้อของเพื่อชนะเกมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง การกระทำแบบนี้สำหรับผมค่อนข้างจะถือว่าเป็นการปอกลอกผู้เล่นจนเกินไปจนไม่อิสระในการเล่นเอาเสียเลย
ใน Symphony Of the Origin นี้เองก็มีระบบซื้อของภายในเกมเช่นเดียวกัน ต่างกันตรงที่ว่าสำหรับ Symphony of the Origin นั้น การซื้อของไม่ได้เป็นหัวใจหลักของเกม ผู้เล่นสามารถเลือกได้เองว่าอยากจะจ่ายเงินซื้อของหรือไม่ เพราะต่อให้คุณไม่ซื้อคุณก็สามารถจบเกมได้อย่างไม่ยากเย็นแสนเข็ญนัก โดยภายในเกมจะเรียกว่าระบบ SOP ซึ่งก็คือแต้มที่คุณสามารถซื้อเพื่อปลดล็อกดันเจี้ยนและพื้นที่ต่างๆ ในฉากดันเจี้ยนให้สามารถเข้าถึงได้ หากคุณไม่ต้องการเข้าถึงในสิ่งเหล่านี้คุณก็ไม่จำเป็นต้องเสียเงินซื้อ SOP มาเก็บไว้แต่อย่างใด
[box_light]บทสรุป[/box_light]
โดยส่วนตัวแล้วผมมีความสุขกับการเล่นเกมนี้มากทีเดียวเลยล่ะครับ และสำหรับผมแล้ว นี่คืออีกหนึ่งพัฒนาการเกม JRPG บนสมาร์ทโฟนระบบ Android อย่างแท้จริง (และเผื่อใครจะอยากรู้ เกมนี้ลงให้ Android ก่อน iOS นานพอประมาณเลยนะครับ) หากคุณกำลังมองหาเกม RPG เจ๋งๆ สักเกมที่ไม่ได้ตั้งราคามาเวอร์ทะลุโลกหรือพอร์ตซ้ำแล้วซ้ำเล่าแล้วล่ะก็ Symphony of the Origin ถือเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ยอดเยี่ยมที่คุณไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวงเลยล่ะครับ เพราะมันทั้งสนุก เนื้อหาน่าประทับใจ และถึงครบทุกรสชาติตามที่เกม RPG ดีๆ ควรจะเป็น แต่คุณต้องมองข้ามการแปลบทพูดที่อาจจะประหลาดๆ หน่อยของเกมไปให้ได้นะ
เอาเฉพาะตัวละครและความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขาก็คุ้มค่ากับเงินที่เสียไปแล้วล่ะ (ยิ่งผมซื้อมาตั้งแต่ตอนมันเพิ่งเปิดตัว ตอนนั้นรู้สึกจะประมาณ 90 บาทด้วยแล้วยิ่งคุ้มแบบสุดๆ เข้าไปใหญ่) อารมณ์ความเป็นเกมอาร์พีจีก็เต็มเปลี่ยมสร้างความสดใหม่ให้กับผู้เล่นอย่างเราได้ไม่น้อยเลยทีเดียว
เกมบนมือถือในปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเกมในตระกูล RPG ถือว่าเป็นกลุ่มที่ได้รับความสนใจจากคนในวงกว้างแต่ก็ยังขาดแคลนทรัพยากรดีๆ ที่สามารถนำมาชูได้อย่างหน้าชื่นตาบานไปบ้างเหมือนกัน แต่พักหลังมานี้ Kemco ได้ลดเพดานช่องว่างระหว่างเกม RPG น้ำดีบนมือถือและบนเครื่องคอนโซลลงเยอะพอสมควรเลยทีเดียว และนั่นทำให้ผมมองไปไกลถึงอนาคตของเกมตระกูล RPG บนมือถือว่าจะถูกพัฒนาให้ออกมาได้น่าหลงไหลมากขึ้นเพียงไหน และยิ่งเมื่ออยู่ในมือของค่ายที่รู้จักเกม RPG บนมือถือดีอย่าง Kemco ด้วยแล้ว ผมเชื่อว่าเราน่าจะได้เห็นอะไรน่าตื่นเต้นออกมาต่อจากนี้อีกมากโขเลยทีเดียว…มารอลุ้นกันต่อไปครับ!
[gradeA]