The DioField Chronicle (Nintendo Switch) – เกมวางแผนที่สนุก แต่ต้องมาสะดุดเพราะการเล่าเรื่อง
ชัดเจนมากว่า The DioField Chronicle นั้นคือการพยายามนำเสนอเกมในรูปแบบใหม่ๆ จาก Square Enix ในยุคหลังนี้ โดยตัวเกมเองพยายามหลีกหนีจากความเป็น Action RPG และ JRPG ในแบบถนัดที่มักเห็นอยู่บ่อยๆ ในปัจจุบัน มาเป็นการลองไอเดียของเกมในรูปแบบ RTS ที่มีรูปแบบการเล่าเรื่องและวิธีการเล่นที่แปลกใหม่ออกไปดูบ้าง อย่างไรก็ตาม การพยายามครั้งนี้ก็ไม่ถือว่าสำเร็จไปเสียทั้งหมด เพราะนอกเหนือไปจากรูปแบบการเล่นที่ต้องยอมรับว่าเป็น Real Time Strategy ที่ค่อนข้างจะสมบูรณ์มาก แต่ในพาร์ทของการเล่าเรื่องนั้นกลับสอบตกจนทำให้ตัวเกมเต็มไปด้วยบาดแผลและความไม่ลื่นไหล ส่งผลต่อภาพรวมของตัวเกมมาก
The Good
- รูปแบบการเล่นแบบ RTS ที่ออกแบบมาได้สนุก กระชับ และรวดเร็ว
- แต่ละด่านต้องใช้ความคิดในการวางแผนการรบจริงๆ
- ระบบแม่ทัพและพลรอง ซึ่งเป็นระบบที่ออกแบบมาให้ได้ใช้ตัวละครได้อย่างทั่วถึงนอกเหนือไปจากตัวละครหลัก
The Bad
- การลำดับเรื่องและการเล่าเรื่องมีปัญหามาก เน้นการ
- ไอเท็มในการอัพเกรดตัวละครที่มีจำกัดมาก ทำให้ไม่มีโอกาสแก้ตัวหากอัพเกรดผิด
-
ความคุ้มค่าต่อราคา
-
เนื้อเรื่อง
-
เกมเพลย์และการควบคุม
-
ภาพและกราฟิก
-
เพลงและดนตรีประกอบ
นับจาก Final Fantasy Tactics มา Square Enix เองก็เหมือนจะไม่ค่อยมีเกมไตเติลแนววางแผนการรบ หรือ Strategy Role-Playing Game ที่เป็นตำนานคลาสิกออกมาให้ได้เล่นกันอีกเลย จนในที่สุดปีนี้ SE เองก็ได้ฤกษ์เปิดตัวเกมวางแผนการรบออกมาให้ได้เล่นกันอีกครั้ง โดยมาในรูปแบบของตำนานบทใหม่แห่งดินแดนศักดิ์สิทธิ์ DioField กับมหาสงครามของอาณาจักร Alletain
The DioField Chronicle ถือเป็นเกม IP ใหม่ที่มีความน่าสนใจมากตั้งแต่ตอนเปิดตัวในงาน State of Play 2022 เพราะด้วยรูปแบบการเล่นที่น่าสนใจ กอปรกับเรื่องราวที่ดูน่าติดตาม ทำให้ผู้รีวิวเองรอคอยเวลาที่จะได้ลองสัมผัสมาโดยตลอด แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ได้เล่น The DioField Chronicle อย่างจริงจังแล้วทำให้เห็นทั้งข้อดีและข้อเสียของเกมที่ชัดเจนมาก โดยในขณะที่งานด้านเกมเพลย์ที่สุดแสนจะรวดเร็วและระบบการต่อสู้แบบ Real Time Strategy หรือ RTS นั้นถือเป็นข้อเด่นที่สำคัญมากของเกม แต่ตัวเนื้อเรื่องที่ดูเหมือนจะน่าสนใจกลับถูกกำกับและถ่ายทอดออกมาอย่างไม่ละเมียดและรวดเร็วเกินไปจนผู้เล่นไม่ได้รู้สึกผูกพันธ์หรือเกิดอารมณ์ร่วมมากนัก ส่งผลให้หลายๆ พล็อตที่เป็นจุดเปลี่ยนของเกมไม่ได้สร้างผลกระทบทางความรู้สึกกับผู้เล่นสักเท่าไหร่เลย
ด้วยเหตุนี้ The DioField Chronicle จึงทำได้เพียงเกมที่สนุกพอประมาณ แต่ยังขาดความตราตรึงใจอย่างที่มันควรจะเป็น
แต่สำหรับใครที่ยังคงสนใจ The DioField Chronicle อยู่นั้นก็สามารถติดตามอ่านรีวิวแบบละเอียดกันได้ต่อด้านล่างนี้เลย
มิตรภาพ ความรัก ความผูกพัน กับมหาสงครามบนดินแดนศักดิ์สิทธิ์นามว่า DioField
ตั้งแต่ครั้งยังเยาว์ เจ้าชาย Levantia Shaytham ผู้ที่มีหน้าที่ในการสืบต่ออำนาจของราชวงค์ Shaytham แห่งอาณาจักร Alletain นั้นได้มีโอกาสพบกับหนุ่มน้อยคนหนึ่งนาม Andrias Rhondarson (Rias) เด็กชายผู้มาพร้อมพรสวรรค์มากมายที่ฉายแววจนได้มาเป็นมหาดเล็กและองครักษ์ข้างกายของพระองค์ พร้อมกับหนุ่มน้อยมากความสามารถอีกคนที่มีนามว่า Fredret Lester (Fred)
ทั้ง Rias และ Fred เป็นพระสหายที่สนิทสนมของเจ้าชาย Levantia และร่วมเล่นและเรียนรู้ไปด้วยกันตลอดช่วงเวลาที่เจ้าชายทรงเตรียมพระองค์เพื่อขึ้นครองราชเป็นกษัตริย์ แต่อยู่มาวันหนึ่ง เจ้าชาย Levantia ก็ถูกลอบปลงพระชนม์กระทันหันโดยผู้ไม่หวังดี ทำให้ Rias และ Fred ต้องระหกระเหินไปอยู่กับตระกูล Zoruaq นักรบผู้กล้าที่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย และได้มาพบกับ Izelair Wigan (Izzy) ลูกสาวของ Zoruaq ที่ต่อมาได้กลายมาเป็นเพื่อนสนิทกับทั้ง Rias และ Fred และต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กันจนเติบโต
Rias และ Fred ยังคงมีอุดมการณ์แน่วแน่ที่จะรักษาอาณาจักร Allentain ซึ่งเป็นอาณาจักรของสหายรักในอดีตอย่างเจ้าชาย Levantia เอาไว้ และมุ่งมั่นที่จะนำเอาความสงบสุขกลับคืนมาสู่อาณาจักร Allentain และดินแดน DioField อีกครั้ง ทั้งสองจึงได้ชักชวน Izzy ให้ออกเดินทางไปพร้อมกันเพื่อหาโอกาสในการทำตามความฝัน ก่อนที่เหตุการณ์บางอย่างจะชักนำให้กลุ่มเพื่อนรักทั้งสามได้มาเป็นทหารรับจ้างภายใต้การดูแลของดยุค William Hende ซึ่งต่อมามีเหตุการณ์จับพลัดจับผลูให้ได้จัดตั้งกลุ่มทหารรับจ้างเป็นของตนเองภายใต้ชื่อกลุ่ม Blue Foxes ที่มีจุดประสงค์เพื่อเป็นทหารรับจ้างภายใต้การบัญชาการของดยุค William Hende และเพื่อกอบกู้และรักษาอาณาจักร Allentain จากการรุกรานของจักรวรรดิ Trovelt-Schoevian
Rias, Fred และ Izzy ต้องรวบรวมกลุ่มคนที่มีความสามารถ และมีอุดมการณ์ร่วมกัน เพื่อที่จะมาทำภารกิจยิ่งใหญ่นี้ให้สำเร็จลุล่วงไปได้ โดยในระหว่างทางนั้น กลุ่ม Blue Foxes เองได้สร้างชื่อเสียงมากมายทั้งในด้านดีและด้านโหดเหี้ยม ก่อนที่จะกลายเป็นที่สมญานามกันไปทั่วทั้งแผ่นดิน Attelain และได้รับได้การเลื่อนขั้นจากกลุ่มทหารรับจ้างเป็นกองกำลังอัศวินพิทักษ์อาณาจักร เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการรับมือของจักรวรรดิ Trovelt-Schoevian
และไม่ว่าจะต้องแลกด้วยอะไร Rias, Fred, Izzy และกลุ่ม Blue Foxes จะไม่ยอมให้จักรวรรดิ Trovelt-Shoevian ได้ในสิ่งที่ต้องการ รวมทั้งจะไม่ยอมสูญเสียอาณาจักร Attelain อันยิ่งใหญ่ ซึ่งควรจะเป็นของสหายสนิทอย่างเจ้าชาย Leventia นี้ไปอย่างแน่นอน จึงก่อเกิดเป็นมหากาพย์สงครามบนดินแดนศักดิ์สิทธิ์นามว่า DioField ใน The DioField Chronicle นั่นเอง
เรื่องราวระดับมหากาพย์ ที่ถูกเล่าและกำกับออกมาอย่างไม่คู่ควร
The DioField Chronicle ใช้วิธีการนำเสนอแบบ “เล่า” แทนการ “เล่น” เป็นหลัก หลายต่อหลายเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นนั้นจะถูกเล่าผ่านทางมุมมองของผู้เล่าเรื่อง (Narrator) ซึ่งไม่ใช่ตัวละครต่างๆ ภายในเกมเลย และจะถูกเล่าผ่านไปโดยที่ผู้เล่นแทบไม่ได้มีส่วนร่วมกับเหตุการณ์หรือรายละเอียดภายในเหตุการณ์เหล่านั้นเลย ภารกิจหลักต่างๆ ที่เราได้ทำนั้นส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของเรื่องที่ถูกเล่าในแต่บท (Chapter) เท่านั้น
นอกจากนี้หลายต่อหลายเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่ม Blue Foxes โดยตรงก็ยังถูก “เล่า” ออกมาแทนการให้เราได้เป็นส่วนหนึ่งด้วยการ “เล่น” อีกด้วย นี่จึงเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดภายในเกม The DioField Chronicle ที่ไม่สามารถสร้างอารมณ์ร่วมไปกับเหตุการณ์และความจำเป็นของการกระทำในคณะ Blue Foxes ได้ดีสักเท่าไหร่นักเลย
อีกหนึ่งปัญหาที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือการกำกับลำดับเรื่องของ Takahiro Kumagai ซึ่งรับหน้าที่เป็นผู้กำกับ The DioField Chronicle ในครั้งนี้ ที่โดยส่วนตัวแล้วผู้รีวิวแอบคาดหวังไว้สูงมากทีเดียวจากประสบการณ์การกำกับเกมก่อนหน้านี้อย่าง The Legend of Dragoon (PS1) และ The Last Remnant (Xbox360) ที่ทั้งสองเกมต่างก็เปรียบเสมือนเกมในตำนานบนแพลตฟอร์มของตัวเอง และถึงแม้ว่าเกมแนวประวัติศาสตร์อารยธรรมแบบ The DioField Chronicle นั้นดูจะเป็นแนวถนัดของ Takahiro Kumagai แต่การกลับมาในครั้งนี้ของเขากลับไม่สามารถเรียงร้อยเรื่องราวมหากาพย์ The DioField Chronicle ให้สมูธได้อย่างที่ควรจะเป็นเลย ในช่วงต้นเกมนั้น The DioField Chronicle สาดเทข้อมูลต่างๆ ของดินแดนศักดิ์สิทธิ์นี้เข้ามายังผู้เล่นแบบประหนึ่งยิงห่ากระสุนออกมา และอัดแน่นกันจนล้นไปหมดในทุกจุด ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นกับบทที่ 1 (Chapter 1) ภายในเกม ทำให้ผู้เล่นอาจถึงขั้นประติดประต่อเรื่องราวไม่ถูกและไม่อยากเล่นต่อกันได้เลยทีเดียว แต่โชคยังดีที่เมื่อเวลาผ่านไป เนื้อหาใน Chapter หลังๆ สักประมาณ Chapter 3 เป็นต้นไปนั้นถูกลดทอนลงให้เหลือปริมาณที่เหมาะสมกับการย่อยของผู้เล่นต่อหนึ่งบทมากขึ้น จึงทำให้ตัวเกมกลับมารักษาจังหวะการเล่าเรื่องที่เหมาะสมเอาไว้ได้อีกครั้งในที่สุด
ระบบต่อสู้แบบ RTS เสน่ห์ที่ฉายแสงเด่นมากใน The DioField Chronicle
หากมองข้ามปัญหาในการเล่าเรื่องของ The DioField Chronicle ไป เราจะพบกับรูปแบบการเล่นหรือเกมเพลย์ที่มีความสนุก รวดเร็ว และน่าสนใจมาก โดย The DioField Chronicle นั้นมาพร้อมกับรูปแบบการเล่นแบบเกมวางแผนการรบที่หลายๆ คนคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี โดยเป็นแบบ Real Time Strategy หรือการต่อสู้แบบวางแผนโดยอิงตามเวลาจริง หมายความว่าตัวละครต่างๆ ทั้งฝั่งเราและศัตรูจะไม่หยุดโจมตีแล้วรอเทิร์นเหมือนพวก Turn Base แต่จะโจมตีตามจังหวะและรูปแบบจริง ทำให้สร้างความกดดันในการต่อสู้ได้ดีทีเดียว เพราะหากเราไม่ได้วางแผนให้ดี และเลือกเล่นในแต่ละด่านแบบเงอะงะ รับประกันเลยว่าผลจะจบลงไม่สวยแน่ๆ เพราะในระหว่างที่เราคิดอยู่นั้น ศัตรูของเราก็พร้อมเดินเกมอยู่ตลอดเวลานั่นเอง
ในการต่อสู้แต่ละครั้ง เราจะสามารถเลือกตัวละครหลักเข้าร่วมต่อสู้ได้ทั้งสิ้น 4 คน และจะมีอีก 4 ตัวละครที่สามารถพ่วงเข้าไปเป็นฝ่ายสนับสนุนในการต่อสู้ได้ (รวมเป็น 8 ตัวละคร) โดยจะทำหน้าที่เป็นพลรองของแม่ทัพหลักที่เราเลือกมาในการต่อสู้ครั้งนั้นๆ ซึ่งจะทำให้ผู้เล่นสามารถเรียกใช้ท่าไม้ตาย (Technique) ของคนที่เราเลือกเป็นพลรองมาช่วยในระหว่างการรบได้นั่นเอง
แต่ละยูนิตที่เราจัดทัพ จะประกอบด้วยตัวละครที่ถนัดการใช้อาวุธและรูปแบบการโจมตีที่แตกต่างกันออกไป โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่ถนัดมีดสั้นและเน้นความว่องไวในการโจมตี ซึ่งมี Rias เป็นตัวละครหลัก และตามมาด้วยกลุ่มที่เน้นการโจมตีหนักหน่วงและมีความแข็งแกร่งสูง แต่จะโจมตีได้ช้ากว่า ซึ่งในกลุ่มนี้จะมี Fred เป็นตัวละครหลัก และกลุ่มพลธนูและพลแม่นปืนที่เน้นการโจมตีระยะไกลโดยอยู่ภายใต้การนำของตัวละครหลักคือ Iscarion Colchester (Isca) และสุดท้ายคือกลุ่มนักเวทย์และฮีลเลอร์ที่มีตัวละครหลักในกลุ่มเป็นนักเวทย์สาวจากตระกูล Redditch ตัวจี๊ดประจำเกมอย่าง Waltaquin Redditch (Quin) เป็นตัวหลักในการดำเนินเรื่อง
สิ่งที่ชอบมากๆ เมื่อพูดถึงระบบการต่อสู้ของ The DioField Chronicle นั้นคือความหลากหลายของรูปแบบการปรากฏตัวและการจัดทัพของศัตรู รวมไปจนถึงความหลากหลายในสกิลการโจมตีของศัตรูเองที่ทำให้ผู้เล่นอย่างเราจะเป็นต้องวางแผนการรบที่กระชับและรัดกุมมากๆ ไม่สามารถสุ่มสี่สุ่มห้าเข้าฉากต่อสู้แล้วหวังว่าจะได้รับชัยชนะแบบไร้กังวล ในความเป็นจริงแล้ว หลายๆ การต่อสู้อาจทำให้คุณต้องกลับมาเริ่มเล่นใหม่อยู่หลายครั้งเพื่อทดลองแผนการรบที่ดีและเหมาะสมที่สุดสำหรับการต่อสู้ในด่านนั้นๆ เพื่อผลลัพธ์การต่อสู้ที่ดีที่สุด เพราะหากเราสามารถชนะด่านนั้นๆ ได้ตามเงื่อนไขที่ระบบวางไว้ เราจะได้รับไอเท็มที่จำเป็นเมื่อผ่านเงื่อนไขนั้นๆ มาเพื่อทำการพัฒนาตัวละครและฐานทัพของเราต่อไป ดังนั้นในทุกการเล่นจึงไม่เพียงแค่เล่นเพื่อให้ผ่านๆ ไปเท่านั้น แต่ยังต้องวางแผนให้เป็นการเล่นที่มีกลยุทธ์ที่ดีที่สุดเพื่อไอเท็มที่รออยู่เบื้องหน้าด้วย
อย่างไรก็ตาม The DioField Chronicle นั้นก็ยังใจดีพอที่จะมีระบบ Battle Log ไว้ให้เราสามารถเลือกเริ่มเล่นในแต่ละด่านใหม่ โดยเริ่มจากจุดที่เราทำไว้ได้ดีที่สุด ซึ่งก็ตอบโจทย์กับความยากของตัวเกม และไม่ใจร้ายกับคนเล่นเกินไปถึงขนาดที่ว่าถ้าเล่นผิดพลาดเพียงก้าวเดียวแล้วต้องมาเริ่มเล่นใหม่กันตั้งแต่ศูนย์ให้น่าขัดใจแต่อย่างใด
การพัฒนาตัวละคร กองทัพ และฐานทัพ อีกหนึ่งความท้าทายใน The DioField Chronicle
The DioField Chronicle นั้นแทบไม่ได้ให้โอกาสผู้เล่นได้โฟกัสตัวละครหลักอย่างหลากหลายเลย (โดยเฉพาะในช่วงต้นของเกม) เนื่องจากไอเท็มในการอัพเกรดพวก Skill Trees, Weapons และ Magilumic Orbs นั้นหาได้ยากมากๆ และใช้ร่วมกันในการอัพเกรดทุกตัวละคร ดังนั้นจึงเหมือนเป็นการบังคับผู้เล่นกลายๆ ให้ต้องโฟกัสการอัพเกรดไปที่ตัวละครหลักที่ตัวเองเลือกจัดทัพเอาไว้ตั้งแต่ต้น และเดินไปในแนวทางนี้ต่อไปจนจบ แต่อย่างไรก็ตาม ในส่วนของพลรองนั้นเราสามารถสลับมาเล่นตามความเหมาะสมทางกลยุทธ์ หรือยุทธศาสตร์ในด่านนั้นๆ ได้ เพื่อเป็นตัวช่วยให้เราสามารถผ่านด่านนั้นๆ ไปได้อย่างง่ายดายขึ้น
กระนั้นแล้วในช่วงหนึ่งของเกม ตัวเกมเองก็จะมีการบังคับให้เราสามารถใช้ตัวละครบางตัวได้ ในขณะที่อีกบางตัวนั้นมีภารกิจของตัวเองที่ต้องแยกย้ายกันไปสะสาง ซึ่งเมื่อถึงฉากเหล่านี้ หากตัวละครที่ต้องไปทำภารกิจอื่นคือตัวละครหลักที่เราเลือกเล่นไว้แต่ต้น เราก็จะมีโอกาสเอาตัวละครอื่นไปใช้งานแทนในภารกิจของเราเพื่อเป็นการทำความเข้าใจรูปแบบการต่อสู้และสร้างกลยุทธที่หลากหลายขึ้นได้สำหรับการต่อสู้ครั้งที่กำลังจะมาถึงนั่นเอง
ข้อดีนั้นเห็นได้ชัดมาก คือตัวผู้เล่นเองไม่ต้องเสียเวลาสับสนกับการเลือกอัพเกรดตัวละครมากนัก เพราะเนื่องจากทรัพยากรที่จำเป็นในการอัพเกรดนั้นมีอยู่อย่างจำกัด การที่เกมออกแบบมาให้เราไปให้สุดกับตัวละครใดตัวหนึ่งที่เลือกมาตั้งแต่แรกนั้นทำให้เราสามารถพุ่งเวลาการพัฒนาไปที่ตัวละครตัวนั้นๆ ได้เลยโดยไม่ต้องลังเล ในขณะเดียวกันก็ยังสร้างความหลากหลายในการเล่นได้จากกลุ่มพลรองที่สามารถเลือกสลับมาใช้งานได้ตามความเหมาะสม แต่ไม่จำเป็นต้องโฟกัสเรื่องการอัพเกรดตัวละครและอาวุธมากนักนั่นเอง
ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดและถือเป็นเสน่ห์สำคัญมากๆ ในระบบการต่อสู่ของ The DioField Chronicle นั้นคือเหล่าทวยเทพที่เราสามารถร่ายมนต์เรียกออกมาได้จากการติดตั้ง Magilumic Orbs ที่ได้มาจากเหตุการณ์ต่างๆ นั่นเอง โดยเราสามารถอัพเกรดทวยเทพเหล่านี้ได้ด้วยการใช้ไอเท็มที่เก็บได้จากหีบสมบัติในแต่ละด่านต่อสู้ ซึ่งมีทั้งการอัพเกรดพื้นที่เอฟเฟ็คของพลังเวทย์จากทวยเทพ รวมไปจนถึงพลังการโจมตี และพลังการฟื้นฟูต่างๆ ซึ่งมีรูปแบบการอัพเกรดเดียวกับ Skill Trees หรือทักษะพื้นฐานของตัวละครแต่ละตัวนั่นเอง
นอกจากนี้ผู้เล่นยังสามารถอัพเกรดฐานทัพของตัวเองให้มีความสามารถในการพัฒนาอาวุธ อุปกรณ์ และ Magilumic Orbs มากขึ้นได้อีกด้วย รวมไปจนถึงการอัพเกรดฐานทัพเพื่อพัฒนาค่าสแตตต่างๆ แบบยกทัพ เช่นเปอร์เซ็นการได้มาซึ่งค่าประกบการณ์ต่อการต่อสู้หนึ่งครั้ง รวมไปจนถึงความแข็งแกร่งของทัพที่จะเป็นการอัพเดตสแตตแบบทั้งขบวนทีมเลย ไม่ใช่แค่ตัวละครตัวใดตัวหนึ่งเท่านั้นเหมือนกันอัพเกรดสกิลทั่วไป
ทั้งหมดนี้คือปราการสำคัญที่จะทำให้เรากำชัยเหนือการต่อสู้ในทุกด่านได้ ซึ่งถือเป็นเสน่ห์สำคัญของเกมมากที่ออกแบบมาให้เราสนุกไปกับการพัฒนาตัวละคร กองทัพ อาวุธ สกิล และฐานทัพแบบหลักเลี่ยงไม่ได้ เพื่อกลยุทธ์ที่หลากหลายและเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบในแต่ละด่าน
The DioField Chronicle ตำนานบทใหม่จาก Square Enix ที่ยังไปไม่สุดถึงฝั่งฝัน
ชัดเจนมากว่า The DioField Chronicle นั้นคือการพยายามนำเสนอเกมในรูปแบบใหม่ๆ จาก Square Enix ในยุคหลังนี้ โดยตัวเกมเองพยายามหลีกหนีจากความเป็น Action RPG และ JRPG ในแบบถนัดที่มักเห็นอยู่บ่อยๆ ในปัจจุบัน มาเป็นการลองไอเดียของเกมในรูปแบบ RTS ที่มีรูปแบบการเล่าเรื่องและวิธีการเล่นที่แปลกใหม่ออกไปดูบ้าง อย่างไรก็ตาม การพยายามครั้งนี้ก็ไม่ถือว่าสำเร็จไปเสียทั้งหมด เพราะนอกเหนือไปจากรูปแบบการเล่นที่ต้องยอมรับว่าเป็น Real Time Strategy ที่ค่อนข้างจะสมบูรณ์มาก แต่ในพาร์ทของการเล่าเรื่องนั้นกลับสอบตกจนทำให้ตัวเกมเต็มไปด้วยบาดแผลและความไม่ลื่นไหล ส่งผลต่อภาพรวมของตัวเกมมาก
ส่วนตัวแล้วผู้รีวิวคิดว่า The DioField Chronicle นั้นมีโอกาสที่จะเป็น IP สร้างชื่อให้กับ Square Enix มากๆ แต่อาจจะต้องอาศัยการเรียงร้อยเรื่องราวที่ดูเป็นระบบและเหมาะสมกว่านี้หน่อย เพราะไอเดียอื่นๆ ที่ผสมเข้ามานั้นมันได้แล้ว มันขาดแค่การปรุงแต่งในส่วนของการเล่าเรื่องเท่านั้นเอง แต่ใครที่มองหาความแปลกใหม่ในเกมยุคปัจจุบันอยู่ The DioField Chronicle เองก็ถือเป็นหนึ่งในเกมที่น่าสนใจ แต่หากพลาดไปก็ไม่ถึงขนาดต้องเสียดายหรือเสียใจอะไรนะ
ขอขอบคุณ Square Enix สำหรับโค้ดรีวิวเกม The DioField Chronicle ฉบับ Nintendo Switch มา ณ โอกาสนี้