และแล้วก็มีวันนี้ครับ เนื่องจากกระแสความร้อนแรงของบริการแท็กซี่รูปแบบใหม่ที่ได้รับความนิยมสูงในบ้านเรา และหลายๆประเทศอย่าง Uber ซึ่งเป็นบริการรถแท็กซี่รูปแบบใหม่ ซึ่งส่งผลกระทบกับการให้บริการแท๊กซี่รูปแบบเก่าพอสมควร
แต่ด้วยรูปแบบการให้บริการที่แหวกกฎปกตินี้เอง ทำให้ Uber ก็เริ่มมีปัญหาในหลายๆประเทศในแง่ข้อกฎหมายต่างๆ และล่าสุดในประเทศไทยเอง อธิบดีกรมการขนส่งทางบกก็อออกมาฟันแล้วว่า การให้บริการของ Uber นั้นผิดกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. รถยนต์ปี พ.ศ. 2522 โดยผิดใน 3 ประเด็นได้แก่
- ใช้รถยนต์ผิดประเภท (ใช้รถป้ายเขียวและป้ายดำ ในการให้บริการ)
- ไม่ใช้มาตรค่าโดยสารหรือมิเตอร์ตามที่ราชการกำหนด
- ผู้ขับไม่มีใบอนุญาตขับรถสาธารณะ และไม่เข้าสู่ระบบทะเบียนศูนย์ประวัติผู้ขับรถสาธารณะ
นอกจาก 3 ประเด็นข้างต้นแล้ว กรมการขนส่งทางบกยังระบุว่า การใช้บริการของ Uber อาจส่งผลต่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร เพราะคนขับไม่ได้อยู่ในระบบเทียนศูนย์ประวัติ รวมถึงระบบการชำระเงินด้วยบัตรเครดิตอาจเสี่ยงต่อความปลอดภัยด้านธุรกรรมของผู้โดยสารในอนาคต (1)
กรมการขนส่งทางบกจะเริ่มตรวจสอบการให้บริการของ Uber ตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2557 เป็นต้นไป และหากตรวจพบจะเปรียบเทียบปรับสูงสุดทุกราย ได้แก่ ความผิดฐานใช้รถผิดประเภท โทษปรับสูงสุด 2,000 บาท ไม่ใช้มาตรค่าโดยสารตามที่ทางราชการกำหนด โทษปรับสูงสุด 1,000 บาท และไม่มีใบขับขี่รถสาธารณะปรับสูงสุด 1,000 บาท
ด้าน Uber เองก็มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อท่าทีของกรมการขนส่งทางบกแล้ว โดย Uber ชี้แจงว่าบริการของตนปลอดภัยและเชื่อถือได้ โดยตอนนี้ Uber ให้บริการครอบคลุมกว่า 250 ประเทศทั่วโลกและสร้างงานให้กับพันธมิตรของ Uber หลายแสนคน (2)
ก็ต้องจับตาดูกันต่อไปครับว่า ประเด็นระหว่างกรมการขนส่งทางบก และ Uber จะจบลงอย่างไร เนื่องจากล่าสุดมีรายงานว่า Uber เองก็พร้อมที่จะหารือกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางออกร่วมกันต่อไป
ที่มา: Manager.co.th และ Sanook.com