ปัจจุบัน AI เป็นที่ยอมรับนำมาใช้งานกันมากขึ้นจนเป็นกระแสความนิยมไปทั่วโลก ด้วยเพราะภาพรวมของวงการ AI มีการพัฒนาความสามารถเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เครื่องมือ AI แต่ละตัวก็มีความสามารถมากถึงขั้นทำงานเฉพาะทางแทนคนได้แล้ว และมีความหลากหลายของเครื่องมือ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยงานด้านกราฟฟิก ด้านวิชาการ การคำนวณ การวิเคราะห์ข้อมูล ระบบบริหารจัดการบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ และในช่วงหลังมานี้ ChatGPT ก็มาช่วยเปลี่ยนมุมมองใหม่เกี่ยวกับ AI ที่แต่เดิมทำงานได้เฉพาะด้านให้มีความสามารถในการทำงานได้หลากหลายจนกลายเป็น AI ในฝันของหลาย ๆ คน ตั้งแต่การถามตอบได้ทุกเรื่อง ช่วยงาน ช่วยเขียนบทความ จนปัจจุบันสามารถอัปโหลดรูปภาพและสื่อสารด้วยเสียงเพื่อพูดคุยกันได้แล้ว ใกล้เคียงนิยามของผู้ช่วยอัจฉริยะเข้าไปทุกที และมีการพัฒนาความสามารถมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ว่า ChatGPT ไม่ใช่ AI สนทนาตัวแรก เป็นเพียงตัวที่มาสร้างกระแสความนิยมได้สำเร็จ แม้แต่คนนอกวงการไอทีก็ใช้เป็น และใช้งานกันอย่างแพร่หลาย จนทำให้บริษัทไอทีใหญ่ระดับโลกอย่าง Microsoft และ Google ต้องรีบเข็น AI ของตัวเองออกมาก่อนกำหนดตามแผนงานเดิมของบริษัท บทความนี้เราจะมาทำความรู้จัก AI ประเภทนี้ของ Google กัน ซึ่งมีชื่อว่า Google Bard
Google Bard เป็น AI ประเภทสนทนาของ Google ที่เปิดตัวไม่นานมานี้ แต่มีความสามารถที่หลากหลาย และพัฒนาอย่างรวดเร็ว เพราะต้องการตามคู่แข่งอย่าง ChatGPT ให้ทัน แล้ว Google Bard มีดีอะไร และมีความสามารถมากแค่ไหน หากต้องเลือกจ่ายเงินให้กับตัวช่วย AI สักตัว Google Bard จะเป็นคำตอบให้กับเราได้หรือไม่? ไปดูกันครับ
Google Bard คืออะไร?
Google Bard เป็น AI Chatbot ของ Google ที่ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกผู้ใช้ในการค้นหาข้อมูลและตอบคำถามต่าง ๆ ซึ่งให้บริการฟรีทั้งหมด ไม่เหมือน ChatGPT ที่มีทั้งเวอร์ชั่นฟรีและเสียเงิน แต่หน้าตาการใช้งานของ Bard จะคล้ายกับ ChatGPT เลย รองรับ Prompt ภาษาไทยเหมือนกัน รวมถึงมีวิธีใช้งานที่เหมือนกันด้วย จะต่างกันก็เพียงประสิทธิภาพในการทำงานบางเรื่อง
แม้ส่วนใหญ่ Google Bard จะคล้าย ChatGPT แต่จุดเด่นและข้อได้เปรียบ ก็คือ Bard สามารถทำงานร่วมกับบริการอื่น ๆ ของ Google ได้อย่างดีและลื่นไหล ทั้ง Google Docs, Gmail, YouTube, Google Drive, Google Maps
วิธีการใช้งาน Google Bard
สำหรับวิธีการทำงานของ AI Chatbot นั้นเหมือนกันแทบทุกตัว Google Bard ก็เช่นเดียวกัน นั่นคือ การป้อน Prompt (คำสั่ง) ลงในกล่องสนทนา เช่น “แต่งกลอนสี่สุภาพเกี่ยวกับฟุตบอล” หรือ “วาดภาพกรุงเทพมหานครที่มีหิมะตก” เป็นต้น วิธีการใช้งานโดยละเอียดแสดงดังต่อไปนี้
1. เข้าไปที่เว็บไซต์ https://bard.google.com/chat หรือเพิ่ม Extension ที่ชื่อว่า Search Everywhere with Google Bard ลงบน Google chrome เพื่อเรียกใช้งานได้ตลอดเวลา
2. สามารถพิมพ์ Prompt (คำสั่ง) ลงในช่องสนทนาได้เลย สอบถามในสิ่งที่อยากรู้ ค้นหาภาพและวิดีโอ สร้างคอนเท้นต์ บทความ คิดพาดหัวข่าว คิดโครงเรื่องนิยายหรือแม้แต่แต่งนิยายทั้งเรื่อง ประสิทธิภาพจะขึ้นอยู่กับ Prompt ที่ป้อนเข้าไปด้วย ซึ่งผู้ใช้สามารถเข้าร่วมกลุ่ม Facebook หรือสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ที่มีการแชร์ Prompt เพื่อให้เราได้ปรับแต่งให้ตรงความต้องการของเราได้ แต่โดยส่วนตัวผู้เขียนชอบลองคิดคำเองมากกว่าลองผิดลองถูกจนกว่าจะพอใจ นี่เป็นข้อดีที่ Google Bard ใช้งานฟรีได้ไม่จำกัดนั่นเอง
Google Bard และ ChatGPT แตกต่างกันอย่างไรบ้าง?
Google Bard และ ChatGPT จะมีวิธีการใช้งานและหน้าตาที่เหมือนกันมาก ส่วนการทำงานเบื้องหลังก็เช่นเดียวกัน คือเป็นการรวบรวมข้อมูลที่ยากและซับซ้อน แล้วนำมาย่อยให้ง่ายและให้ผู้ใช้งานสามารถค้นหาได้อย่างรวดเร็ว จนรู้สึกเหมือนมีคนมาตอบคำถามให้จริง ๆ แต่ก็มีสิ่งที่แตกต่างกันหลัก ๆ ก็มีดังต่อไปนี้
1. ภาษา: Bard จะใช้โมเดลภาษาที่ Google พัฒนาเอง ชื่อว่า LaMDA (Language Model for Dialogue Applications) ส่วน ChatGPT จะใช้โมเดลภาษา GPT-3.5 และ GPT-4 (Generative Pre-trained Transformer 3.5,4) อย่างไรก็ตาม ทั้ง GPT และ LaMDA ต่างก็เป็นโมเดลภาษาที่ใหญ่มาก ๆ เหมือนกัน โดย GPT มีพารามิเตอร์มากถึง 175,000 ล้านพารามิเตอร์ ส่วน LaMDA มี 137,000 ล้านพารามิเตอร์ และในขณะที่ LaMDA ถูกออกแบบมาเพื่อทำความเข้าใจบริบทของการสนทนา เน้นการตอบสนองที่คล้ายมนุษย์มากที่สุด ทว่า GPT เป็นรูปแบบภาษาที่ใช้งานทั่วไป
2. ข้อมูล: Bard ประมวลผลจากฐานข้อมูลแบบเรียลไทม์โดยใช้ข้อมูลในอินเทอร์เน็ตปัจจุบัน ส่วน ChatGPT ประมวลผลจากชุดฐานข้อมูลที่นำมาใช้ในการเทรนด์ถึงปี 2021 เท่านั้น แต่มันไม่ได้หมายความว่า Bard ดีกว่า ChatGPT เสมอไป เพราะการใช้ข้อมูลในอินเทอร์เน็ตแบบเรียลไทม์ Bard ก็จะเจอกับข้อมูลที่ยังไม่ผ่านการกลั่นกรองและมีข้อผิดพลาด อีกอย่างคือ Bard ยังไม่รองรับการตรวจสอบการคัดลอกผลงาน แต่ ChatGPT นั้นมีเครื่องมือตรวจสอบการคัดลอกผลงาน เรียกว่า AI Text Classifier ทำให้เวลาเราใช้ Bard ช่วยทำงาน เราต้องมีการตรวจสอบอีกครั้งด้วยตนเองก่อนเผยแพร่
3. การเสียเงิน: ปัจจุบัน Bard ยังถือว่าเป็นเวอร์ชั่นทดลองอยู่ จึงสามารถใช้งานได้ฟรี ส่วน ChatGPT ใช้งานฟรีแค่เวอร์ชั่น GPT-3.5 ส่วน GPT-4.0 ต้องเสียเงิน
4. แอปพลิเคชัน: Bard ยังไม่มีแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน เชื่อว่าหากพ้นจากเวอร์ชั่นทดลองขั้นตอนต่อไปจะมีแอปพลิเคชันตามมา ส่วน ChatGPT มีแอปพลิเคชันทั้งระบบปฏิบัติการ Android และ iOS แล้ว
สรุปเกี่ยวกับ Google Bard
Google Bard เป็น AI Chatbot ที่พัฒนาโดยบริษัท Alphabet มีหน้าตาและการใช้งานเหมือนกับ ChatGPT นั่นคือ เป็นหน้าต่างสนทนาที่เราสามารถพิมพ์ Prompt หรือ คำสั่ง ลงไป(รองรับภาษาไทย) แล้ว Bard ที่ทำงานด้วยโมเดลภาษา LaMDA จะประมวลผลข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตแบบเรียลไทม์ แล้วตอบกลับผู้ใช้งานในทันที ปัจจุบันเป็นเวอร์ชั่นทดลองใช้งานฟรีทั้งหมด ยังไม่มีแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน
อ้างอิง: