เราทราบกันตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้วว่าซัมซุงจะใช้หน้าจอ PHOLED กับเรือธงตัวใหม่ของตนอย่าง Samsung Galaxy S IV (4) ซึ่งหน้าจอ PHOLED ก็คือหน้าจอเจนใหม่ล่าสุดต่อจาก AMOLED อีกที พูดแบบนี้หลายๆ คนอาจจะสงสัยว่าแล้วไอ้เจ้าหน้าจอ PHOLED นี้คืออะไร หรือมันจะประหยัดพลังงานมากกว่าเดิมไหม? อ่านต่อไปครับ APPDISQUS จะอธิบายทั้งหมดให้เพื่อนๆ ได้ติดตามกันในบทความนี้
อย่างที่เราทราบกันดีอยู่แล้วว่าซัมซุงเลือกใช้หน้าจอ AMOLED กับมือถือรุ่นเรือธงในเจนปัจจุบันของตนทุกเครื่อง และเจ้าหน้าจอ AMOLED ที่ว่านี้ก็ยังถือได้ว่าเป็นหนึ่งในหน้าจอที่ดีที่สุดในตลาด ณ ปัจจุบันนี้อีกด้วย โดยในหน้าจอ AMOLED นั้น ทุกๆ พิกเซลจะสามารถควบคุมได้ สามารถปิดได้ทุกเมื่อที่ไม่จำเป็นหรือเวลาที่มีการฉายภาพสีดำบนหน้าจอ สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้ตัวมือถือของเราประหยัดแบตเตอร์รี่ไปได้อีกมากโขเลยทีเดียว แต่ปัญหาเดียวที่ดูเหมือนจะพบเจอในหน้าจอ AMOLED ก็คือเรื่องปัญหาภาพถ่ายอมสีฟ้าซึ่งไม่ดีเลย และในบางครั้งความคอนทราสของสีก็มีมากเกินไปจนทำให้สีดูไม่สมจริงไปได้ นั่นทำให้บริษัทที่นิยมเล่น OLED เป็นอันดับหนึ่งของโลกอย่างซัมซุงต้องง่วนอยู่กับการพัฒนาหน้าจอเจนใหม่ของ AMOLED ที่จะมาภายใต้ชื่อ PHOLED นี้นั่นเอง โดยซัมซุงร่วมมือกับ Universal Display ในการสร้างจอเจนใหม่ต่อจาก AMOLED นี้ขึ้นมาจนสำเร็จ เจ้าหน้าจอแบบ PHOLED นี้จึงสามารถใช้งานจริงได้ดีกว่าและมาพร้อมกับสีสันที่น่าตื่นตาตื่นใจกว่า
และต่อไปนี้เราจะพาเพื่อนๆ ไปศึกษาฟีเจอร์ของหน้าจอ PHOLED บางฟีเจอร์ที่เปิดเผยออกมาโดยบริษัทผู้ผลิตร่วมอย่าง Universal Display กันครับ
[box_light]อธิบายอีกครั้ง หน้าจอ PHOLED คืออะไร[/box_light]
PHOLED หรือ PHOSPHORESCENT OLED คือหน้าจอ OLED ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าหน้าจอ OLED แบบ Fluorescent ถึง 4 เท่า และหากว่ากันไปถึง OLED แล้ว มันก็คืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกจำพวกโซลิด สเตจขนาดใหญ่ยักษ์ที่ประกอบด้วยแผ่นฟิล์มออร์แกนิกบางๆ ที่กั้นระหว่างกลางแผ่นฟิล์มเหนี่ยวนำกระแสไฟฟ้าสองตัว และเมื่อกระแสไฟฟ้าถูกปล่อยเข้าสู่ OLED ตัวนำประจุจะออกจากกระแสไฟฟ้าเข้าไปยังแผ่นฟิล์มออร์แกนิกบางๆ นั้น ตัวนำประจุเหล่านี้จะแทรกซึมเข้าไปในตัวดีไวซ์ด้วยอิทธิพลของสนามไฟฟ้าและผสมกันจนกว่าจะเปลี่ยนรูปเป็นเอ็กซ์ซิตอน (Excitons) และหลังจากเปลี่ยนรูปแล้ว เอ็กซ์ซิตอนเหล่านี้ก็จะค่อยๆ คลายตัวลงกลายเป็นพลังงานระดับต่ำโดยการปล่อยแสงไฟและความร้อนออกมา กระบวนการนี้ในจอแบบ fluorescent จะให้ค่าที่แปลงเป็นแสงไฟเพียง 25% เท่านั้น อีก 75% ที่เหลือเปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อน แต่หากใช้วัสดุเป็น phosphorescent แทนแล้ว ผลการวิจัยจากมหาวิทยาลัย Princeton และ University of Southern California ได้ค้นพบไว้ในช่วงปลายยุค 90 ว่าพลังงานจากเอ็กซ์ซิตอนมากถึง 100% สามารถแปลเปลี่ยนไปเป็นพลังงานแสงได้ทั้งหมด การค้นพบในครั้งนี้ถือเป็นการพลิกหน้าประวัติศาสตร์ เพราะนั่นหมายความว่าจอ OLED สามารถทำงานได้ดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมากถึง 4 เท่า เปิดโอกาสให้ OLED เข้ามาแทนที่ LCD และหลอดไฟอินแคนเดสเซ็นท์ (incandescent) และฟลูโอเรสเซนต์ (fluorescent) ได้ในอนาคต
[box_light]ฟีเจอร์และสมรรถนะ[/box_light]
สิทธิบัตรเทคโนโลยีจอและหลอด phosphorescent OLED (PHOLED) จากทาง UniversalPHOLED® พร้อมกับวัสดุระดับรางวัลนี้ผสมรวมกันเพื่อให้เกิดนวตกรรมประหยัดพลังงานของหน้าจอ OLED และหลอดไฟต่างๆ นอกจากอัตราการส่องสว่างที่สูงกว่าหน้าจอและหลอดไฟแบบ fluorescent OLED มากถึง 4 เท่าแล้ว PHOLED ยังลดอัตราการเกิดความร้อนแลปรับปรุงข้อดีต่างๆ ใน AMOLED ให้มากขึ้นได้อีกด้วย โดยเพื่อนๆ สามารถศึกษาข้อมูลเปรียบเทียบจากสีแต่ละสีได้จากตารางด้านล่างนี้เลยครับ
[box_light]อัตราการกินไฟ[/box_light]
เทคโนโลยีจาก UniversalPHOLED กอปรกับวัสดุประกอบทั้งหลายนั้นเป็นที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลายทางด้านของการผลิตหน้าจอ OLED ที่เหมาะสมต่ออุปกรณ์มือถือที่ต้องพึ่งพาแบตเตอร์รี่เช่นสมาร์ตโฟน เช่นเดียวกับในกลุ่มใหญ่เช่นโทรศัพท์และหลอดไฟส่องสว่าง และเพื่อเป็นการทอดสอบ ได้มีการจับเอาหน้าจอ AMOLED ที่ใช้เทคโนโลยีของ UniversalPHOLED และวัสดุอื่นๆ จากแหล่งที่มาเดียวกันนี้เปรียบเทียบกับหน้าจอแบบ AMLCD ทั้งคู่มีขนาดหน้าจอที่ 4 นิ้ว ทำงานที่ 300 cd/m2 พร้อมกับวิดีโอเรต (40% พิกเซลออน) ผลของการทดสอบนั้นเห็นได้อย่างชัดเจนว่าอัตราความร้อนบนหน้าจอ PHOLED ต่ำลงกว่าเดิมมาก เพราะพลังงานไฟฟ้าที่ไม่ได้ถูกเปลี่ยนรูปเป็นแสงสว่างนั้นจะเปลี่ยนไปอยู่ในรูปของความร้อนแทน ส่งผลให้หน้าจอและหลอดไฟได้รับผลกระทบในเรื่องของอัตราความร้อนที่เพิ่มสูงขึ้นระหว่างการใช้งาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับหน้าจอโทรทัศน์แบบ OLED ที่มีขนาดใหญ่หรือโคมไฟต่างๆ หน้าจอและหลอดไฟแบบ PHOLED จะสามารถลดอัตราความร้อนดังกล่าวนี้ลงได้อย่างชัดเจน ตัวอย่างเช่นอุณหภูมิของหน้าจอโทรทัศน์แบบ FL-OLED สามารถเพิ่งสูงขึ้นได้ถึง 30°C ในขณะที่เทคโนโลยี PHOLED จะสามารถลดอัตราความร้อนนั้นได้ลงหลือเพียง 10 – 17°C เท่านั้น (ตั้งสมมติให้เป็นหน้าจอ AMOLED ขนาด 40 นิ้ว) อุณภูมิระหว่างการใช้งานที่ต่ำลงนี้สำคัญมากเพราะจะช่วยยืดอายุการใช้งานของ OLED และยังช่วยลดอุณภูมิจากแอร์ที่ต้องใช้ในการระบายความร้อนได้อีกด้วย นั่นจึงถือว่าเทคโนโลยี PHOLED นั้นเป็นเทคโนโลยีชิ้นสำคัญในการบวนการ “สีเขียว” หรือการสร้างมาตรการประหยัดพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงข้อมูลคร่าวๆ ที่ APPDISQUS อยากจะนำมาเตรียมความพร้อมให้กับเพื่อนๆ ก่อนที่เจ้า Samsung Galaxy S IV มือถือเครื่องแรกของโลกที่จะมาพร้อมกับหน้าจอแบบ PHOLED นี้จะเปิดตัวออกมาจริงๆ แน่นอนว่านี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเจ้าหน้าจอตัวใหม่นี้เท่านั้น หากเพื่อนๆ สนใจอ่านเพิ่มเติมสามารถศึกษารายละเอียดได้จากลิงก์ที่มาท้ายบทความได้เลยนะครับ
APPDISQUS ไม่พลาดที่จะนำทุกข่าวสารความเคลื่อนไหวของเจ้า Samsung Galaxy S IV มาฝากเพื่อนๆ กันแบบก้าวต่อก้าวแน่นอน ดังนั้นหากเพื่อนๆ ไม่อยากเอาท์ไปจากกระแส S4 ตอนนี้ เราแนะนำให้เพื่อนๆ ติดตามเราไว้อย่างใกล้ชิดผ่านทางแฟนเพจบน Facebook หรือจะติดตามเราผ่านทาง Twitter ได้เลยนะครับ เพียงแค่นี้เพื่อนๆ ก็จะได้เกาะติดทุกกระแสแล้ว
ที่มา – UniversalDisplay