ทุกๆปีเหมือนว่าเราเหล่าบรรดาผู้ใช้จะได้มักจะได้เห็นการออกมาให้สัญญาของ Android ครับ ว่าปีนี่้ Android จะก้าวขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่ที่เหล่านักพัฒนาจะหันมาพัฒนาแอพก่อนเป็นอันดับแรก แต่อย่างไรซะเหมือนว่าบริษัทที่ผลิตแอพชื่อดังต่างๆก็ยังดูจะให้ความสนใจกับการผลิตแอพบน iOS ออกมาก่อนอยู่ดีครับ และถึงแม้ว่าส่วนแบ่งของการตลาดนั้นจะเห็นได้ชัดว่า Android มีจำนวนผู้ใช้งานมากกว่า แต่ทว่ามันกลับไม่ได้ดึงดูดเหล่านักพัฒนาให้หันมาออกแบบแอพสำหรับ Android ออกมาก่อนหรือปล่อยออกมาพร้อมกันแต่อย่างไรเลยครับ ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีนักพัฒนาแอพส่วนน้อยเท่านั้นที่จะส่งแอพลงใน Android ก่อนที่จะส่งมายัง iOS
ทั้งนี้เชื่อว่าคงมีหลายๆคนใช่ไหมล่ะครับที่กำลังอยากรู้ว่า เพราะอะไรกันนะเหล่านักพัฒนาถึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาแอพมาลงใน iOS มากกว่าใน Android วันนี้ทางเราจึงนำเสนอบทความนี้เพื่อให้เราเหล่าบรรดาผู้ใช้ได้ทราบถึงสาเหตุว่าทำไมนักพัฒนาจึงมักเลือกพัฒนาแอพ iOS ออกมาก่อน Android ครับ
ทรัพยากรที่มีจำกัด
อย่างที่เราเห็นกันจนเป็นเรื่องปกติที่เหล่าบริษัทใหญ่ๆอย่าง Instagram, Facebook, Nike และแม้กระทั่ง Google เองก็ตามจะให้ความสำคัญกับการผลิตแอพมาลง iOS App Store ก่อนของ Android เป็นประจำ แต่สำหรับบริษัทใหญ่ๆแบบนี้อาจจะตกไปในเรื่องของประเด็นที่ว่าทรัพยากรที่มีจำกัดไปครับ เราลองไปดูบริษัทที่เล็กลงมา หรือเป็นนักพัฒนาที่ไม่ได้มีทุนทรัพย์มหาศาล หรือเป็นนักพัฒนาอิสระกันบ้างดีกว่าครับ
NeuBible สำหรับแอพนี้อาจไม่ได้เป็นที่รู้จักกันมากนักในเมืองไทยครับ แต่แอพนี้เป็นแอพที่ได้รับความนิยมค่อนข้างดีเลยทีเดียวในต่างประเทศ โดยตัวแอพนั้นจะทำหน้าที่เป็นเหมือนหนังสือไบเบิ้ลให้ผู้ใช้สามารถเปิดอ่านเมื่อไรที่ไหนก็ได้ที่ต้องการนั่นเองครับ โดยแอพ NeuBible นี้ได้ถูกพัฒนาโดน Kory Westerhold และ Aaron Martin และปล่อยให้ดาวน์โหลดครั้งแรกใน iOS App Store ซึ่งปล่อยให้ดาวน์โหลดไปใช้งานกันฟรีๆ ทั้งนี้ทางเราเองก็ไม่ทราบได้ว่าแอพนี้ประสบความสำเร็จในด้านการเงินมากน้อยขนาดไหน แต่มีผู้ใช้งานหลายๆคนที่ต้องบอกว่าแอพ NeuBuble นั้นเป็นแอพไบเบิ้ลมาตรฐานที่ต้องมีติดเครื่องของผู้ใช้ iOS ที่นับถือศาสนาคริสต์แน่นอน เพราะมันถือเป็นแอพหนึ่งที่ค่อนข้างดีทีเดียว
ซึ่งสำหรับ NeuBible นั้นก็เหมือนกับแอพอื่นๆอีกมากมายที่่เปิดให้ผู้ใช้ iPhone ได้ดาวน์โหลดไปใช้กันก่อน และที่เหมือนกับแอพอื่นๆอีกคือมีการประกาศว่าแอพบน Android นั้นจะตามมาอีกในไม่ช้า โดยหลังจากที่เราได้มีโอกาสพูดคุยกับทั้ง Westerhold และ Martin แล้ว พวกเขาได้บอกกับเราไว้แบบนี้ครับว่า เริ่มแรกพวกเขาได้วางแผนจะปล่อยแอพดังกล่าวให้กับทั้ง iOS และ Android พร้อมๆกัน แต่ทว่าด้วยต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัดทำให้พวกเขาจำเป็นต้องเริ่มจากการปล่อยให้ผู้ใช้ iPhone iPad ก่อนจะปล่อยให้กับ Android นั่นเองครับ (ทั้งคู่ใช้เงินส่วนตัวในการพัฒนาแอพขึ้นมาเพื่อจะทดสอบดูว่าพวกเขารู้สึกชื่นชอบการพัฒนาแอพขายจริงๆหรือไม่ครับ)
โดยทาง Westerhold ได้ชี้ให้เราเห็นว่าเหตุผลที่เขาเลือกปล่อยแอพ NeuBible ลงใน iOS ก่อนนั้นไม่ได้เป็นเพราะเขาไม่ชอบ Android แต่อย่างไร และจริงๆแล้วเขากลับคิดว่าแอพอย่าง NeuBible เหมาะที่จะใช้งานบน Lollipop มากกว่าใน iOS 8 ด้วยซ้ำไป พูดง่ายๆคือเขาชื่ชอบใน Android มากกว่านั่นเองครับ เพราะอุปกรณ์ที่เขาใช้ก็เป็นอุปกรณ์ Android อย่าง Nexus 6 และ Moto 360 ซึ่งความชอบของเขาและ Martin เองทำให้มีความรู้สึกว่าจริงๆแล้วอยากปล่อยแอพลงใน Android ก่อน
แต่สุดท้ายทั้งคู่ได้ให้เหตุผลไว้เพิ่มเติมว่า “ทุกอย่างที่เราอ่านๆมา และตัวเลขค่าสถิติต่างๆที่เราพอจะทราบนั้น ทำให้เรารู้ว่ามันยากมากที่จะทำให้ผู้ใช้ Android ยอมเสียเงินในการซื้อแอพ เราไม่คิดว่าเราจะสามารถขายแอพให้ผู้ใช้ Android ได้อย่างยั่งยืนหรือเพียงพอที่จะใช้ในการนำมาพัฒนาแอพต่อๆไปในอนาคตได้ ”
สำหรับนักพัฒนาอย่าง Westerhold นั้นไม่ได้เป็นคนเดียวที่เป็นห่วงในเรื่องของต้นทุนการพัฒนาแอพใน Android เพราะว่า Dave Feldman หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Emu แอพแชท Third-party เองก็เป็นห่วงในเรื่องนี้เหมือนกัน แต่ทว่าสำหรับแอพ Emu นั้นกลับเป็นแอพทีไม่ได้ปล่อยลงใน iOS ก่อน โดยเปิดตัวครั้งแรกใน Android App Store ในช่วงท้ายของปี 2012 และหลังจากนั้นในเดือนเมษายน 2014 ถึงได้นำแอพ Emu ออกจาก Android App Store และเข้ามาใน iOS App Store แทน โดยนาย Dave ได้บอกกับเราไว้แบบนี้ว่า การปล่อยแอพ Emu ลงใน Android นั้นได้เกิดปัญหาขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาระหว่าง SMS/MMS ปัญหาบั๊กที่เกิดขึ้นในส่วนต่างๆของอุปกรณ์ ทำให้เรารู้ได้เลยว่าการพัฒนาแอพใน Android นั้น เป็นการทำงานที่ทำให้เราช้ากว่าการพัฒนาบนแพลตฟอร์มอย่าง iOS เพราะนอกจากที่เราต้องคอยมานั่งแก้บั๊กที่เกิดขึ้น เรายังต้องมาทดสอบการทำงานของแอพโดยตลอด แทนที่เราจะได้ใช้เวลาไปกับการพัฒนาฟังก์ชั่นใหม่ๆให้กับแอพ
นอกจากประเด็นที่ทาง Feldman ได้กล่าวถึงด้านบนนั้นเขายังต้องพบกับปัญหาอื่นๆตามมาอีก
“สำหรับฟีเจอร์ Multi-Windows ใน Galaxy S4 ของ Samsung ทำให้ป๊อปอัพของแอพ Emu เกิดปัญหาขึ้นในส่วนของคีย์บอร์ด แต่ปัญหานี้กลับไม่เกิดในเครื่อง Galaxy S4 ที่ทาง Google ขาย ซึ่งนั่นก็หมายความว่า ซอฟท์แวร์ของ Samsung หรือฟีเจอร์ Multi-Window เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดปัญหา โดยปัญหาที่เราพบนี้จะไม่สามารถแก้ไขได้เลยหากไม่ได้รับการร่วมมือจากทาง Samsung โดยตรง เพราะปัญหานี้เกิดขึ้นกับเฉพาะซอฟท์แวร์ของ Samsung เท่านั้น”
“ในบางส่วนของ Galaxy Nexus Phone หากว่าผู้ใช้กำลังฟังวิทยุในแอพ Pandora และได้รับการแจ้งเตือนจากแอพ Emu จะทำให้ระดับของเสียงใน Pandora ลดลง โดยปัญหานี้ไม่เคยเกิดขึ้นในแอพอื่นๆ ถึงแม้จะเป็นแอพสตรีมมิ่งแบบเดียวกับ Pandora ก็ตาม นอกจากนี้ยังไม่เกิดกับอุปกรณ์อื่นๆอีกด้วย”
สำหรับ Cameron Hanneke นักพัฒนาจากแอพ GQueues เองก็ต้องเจอกับประสบการณ์ที่แปลกไปจากที่เคยเกิดขึ้นกับแอพ Emu ครับ สำหรับแอพ GQueues นั้นเริ่มแรกมันเป็นเพียงเว็บแอพเท่านั้น แต่ในปี 2013 Hanneke ได้ปล่อยแอพ GQueues ลงใน iOS และ Android ขณะที่ก่อนหน้านี้ทาง Hanneke เคยมีประสบการณ์ในการพัฒนาเกมส์ใน iOS แล้ว ครั้งนี้จึงถือเป็นครั้งแรกที่ได้มีโอกาสพัฒนาแอพใน Android โดย Hanneke ได้กล่าวว่ามันเป็นการเรียนรู้ครั้งใหญ่ครั้งหนึ่ง เพราะปัญหาต่างๆมากมายที่เกิดขึ้น แต่อย่างไรก็ตามผลลัพธ์ที่ได้ออกมาแสดงให้เห็นว่า Hanneke สามารถพัฒนาแอพใน Android จนเสร็จได้เร็วกว่าพัฒนาแอพใน iOS (ใช้เวลา 870 ชั่วโมงพัฒนาแอพ Android และใช้เวลาพัฒนาแอพใน iOS ไป 960 ชั่วโมง)
แล้วถ้าอย่างนั้นสำหรับหัวข้อนี้เราควรจะสรุปมันออกมาอย่างไรดี แต่เอาเป็นว่าเราขอสรุปแบบนี้แล้วกันนะครับว่า สำหรับความยากง่ายในการพัฒนาแอพนั้นมันต้องขึ้นอยู่กับชนิดของแอพที่พัฒนาด้วย ซึ่งอาจจะยากหรือง่ายแตกต่างกันไป ซึ่งนอกจากนี้ัยังมีอีกหลายสิ่งที่ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาแอพ ไม่ว่าจะเป็นเงินทุน ขนาดของทีมพัฒนา ความสามารถและอื่นๆ ซึ่งอาจจะพูดไม่ได้ซะทีเดียวครับว่าการเริ่มพัฒนาแอพใน iOS ก่อนนั้นเหมาะสำหรับทุกคน แต่แน่นอนว่าการพัฒนาแอพบน iOS ก่อนเหมาะกับนักพัฒนาที่มีทุนไม่มากนักแน่นอน
การทำแอพลงใน iOS App Store นั้นสามารถทำเงินได้ง่ายกว่าจริงหรือ?
หนึ่งในเหตุผลยอดฮิตที่ทำให้เหล่านักพัฒนาแอพเริ่มพัฒนาแอพลงใน iOS App Store ก่อนก็คือเรื่องของเงิน ด้วยเรื่องที่ว่าผู้ใช้ Android ส่วนใหญ่นั้นไม่นิยมเสียเงินในการซื้อแอพมาใช้ แตกต่างจากผู้ใช้ iOS ที่มักจะซื้อแอพมาใช้งานถึงแม้ว่าแอพดังกล่าวจะต้องเสียเงินก็ตาม โดยไอเดียดังกล่าวนี้ถูกยืนยันจากผู้คนมากมาย รวมทั้งนักวิเคราะห์เองก็ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่าการวางขายแอพใน iOS App Store นั้นสามารถทำเงินได้ง่ายกว่า แต่มันง่ายจริงๆหรือเปล่า?
ในเรื่องของเศรษฐกิจใน iOS App Store นั้นเหมือนกับว่าเป็นแหล่งทำเงินของเหล่านักพัฒนาแอพ แต่ทว่านักพัฒนาหลายๆคนก็พบว่าการทำเงินใน iOS App Store นั้นก็เป็นเรื่องที่ยากพอสมควรถึงแม้ว่าแอพที่พัฒนาออกมาจะเป็นแอพที่ดีก็ตาม เพราะไหนจะต้องมาเจอกับการแข่งขันที่สูงเพราะมีนักพัฒนาจำนวนมากที่คิดแบบเดียวกัน นอกจากนี้อาจต้องเจอกับการแข่งขันในเรื่องของราคาอีกด้วย ซึ่งนั่นทำให้เหล่านักพัฒนาอิสระต้องคิดหนักในส่วนของโมเดลการทำเงินของพวกเขา
หนึ่งในตัวอย่างที่ดีที่เราจะหยิบยกมาพูดุถึงคือ นักพัฒนาแอพอิสระอย่าง Marco Arment ที่เป็นผู้พัฒนาแอพ Instapaper และ Overcast ที่ออกแบบโมเดลการทำเงินออกมาได้อย่างดีทีเดียว เรามาดูกันว่าความเป็นจริงนั้นเป็นอย่างไรกันบ้าง สำหรับแอพอย่าง Instapaper นั้นปล่อยออกมาครั้งแรกในปี 2008 ใน iOS App Store โดยวางจำหน่ายอยู่ที่ 9.99$ หลังจากนั้นในปี 2014 จึงได้ปล่อยแอพ Overcast ลงมาในตลาด iOS แต่ครั้งนี้จะเป็นการปล่อยให้ดาวน์โหลดฟรี แต่มี In-app purchase ในราคา 5$ แทน สำหรับผู้ใช้ที่ต้องการปลดล็อคฟีเจอร์ต่างๆอย่าง Smart Speed และ Voice Boost โดยทาง Arment ได้อธิบายเกี่ยวกับการปล่อยแอพ Overcast ให้โหลดฟรีแล้วมี IAP ไว้แบบนี้ครับว่า
“ผมไม่มั่นใจกับการปล่อยแอพให้โหลดแบบเสียตังตั้งแต่ครั้งแรกอีกต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผมต้องการจะขายในราคาที่ผมคิดว่าเหมาะสม หากว่าวันนี้ผมปล่อยแอพแอพหนึ่งลงใน iOS App Store ผมรู้เลยว่าในราคา 5$ นั้นจะเป็นราคาที่เหมาะสมและเชื่อว่าจะมีคนยอมจ่าย แต่ก่อนอื่นเลยผมคิดว่าผมมีวิธีที่ดีกว่าที่จะทำให้ผู้ใช้ได้ทดลองใช้แอพของผมกันมากขึ้นโดยโมเดลการทำเงินแบบ in-app purchase และอีกข้อหนึ่งที่ผมรู้คือ การปล่อยให้แอพแบบเสียตังตั้งแต่ดาวน์โหลดครั้งแรกนั้นเป็นวิธีที่ยากมากที่จะมีคนยอมจ่าย เพราะเราจำเป็นต้องมีการโปรโมทที่ดี แต่หลังจากที่การโปรโมทของเราเสร็จสิ้นแล้ว ทุกๆอย่างก็จะหยุด หากคุณได้เห็นกราฟยอดขายแล้วล่ะก็จะเหมือนกับรางรถไฟเหาะเลย พูดง่ายๆว่าหากคุณเลือกที่จะขายแอพตั้งแต่การดาวน์โหลดครั้งแรกนั้น คุณจะพบว่ายอดขายตกลงเร็วกว่าและรุนแรงกว่าการขายแบบ IAP ”
“ผมได้เห็นมันแล้วในแอพ Instapaper ของผม ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังคงใช้โมเดลเดิมคือการจ่ายก่อนโหลดไปใช้ ซึ่งทำให้ผมรู้จักโมเดลนี้ค่อนข้างดีเลยทีเดียว และทุกวันนี้ผมก็รู้ว่า iOS App Store เป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูง และนั่นก็เป็นที่ที่ซึ่งแอพของผมไม่ได้มีฟีเจอร์มากมายที่ผู้ใช้ต้องการ และต้องบอกเลยว่าผู้ใช้หลายๆคนทุกวันนี้เป็นคนที่จู้จี้จุกจิกมาก ดังนั้นเค้าจะไตร่ตรองหนักมากก่อนที่จะเลือกใช้แอพใดๆก็ตาม ถึงแม้จะมีการลดราคาแอพก็ไม่น่าจะเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ดีในระยะยาวได้”
๋Jared Sinclair นักพัฒนาาแอพอย่าง Ripost, Timezones และ Unread ก็ได้พบกับแรงกดดันในตลาดเช่นกัน สำหรับแอพ Unread ถึงแม้จะเป็นแอพที่ถูกออกแบบมาอย่างดีสำหรับเป็นเครื่องมือการอ่าน RSS ใน iOS โดยเป็นแอพที่วางขายไว้ที่ราคา 2.99$ ก่อนที่จะมีการขึ้นราคามาเป็น 4.99$ เพราะ Sinclair ต้องทำงานกันแบบไม่ได้พักได้ผ่อนกับแอพๆนี้ โดยเขาได้กล่าวว่า “ผมทำงานราวๆ 60-80 ชั่วโมงต่ออาทิตย์ตั้งแต่ปี 2013 จนกระทั่งผมได้ปล่อย Unread ในเวอร์ชั่น 1.0 ออกมาในปี 2014” สำหรับแอพ Unread นั้นเป็นแอพที่ Apple เคยนำขึ้น Featured ใน App Store มาแล้ว และถึงแม้ว่าแอพๆนี้ทำให้นักพัฒนาต้องทำงานอย่างหนักและเป็นแอพที่ดีมากๆแอพหนึ่ง อย่างไรก็ตามกลับทำเงินให้กับ Sinclair เพียง 21,000$ เท่านั้นหลักจากหักภาษีและค่าใช้จ่ายส่วนอื่นๆแล้ว นอกจากนี้ Sinclair ยังมีแอพล่าสุดของเขาอย่าง TimeZones ที่ปล่อยให้ดาวน์โหลดไปใช้กันฟรีๆพร้อมกับโฆษณา หากว่าต้องการนำโฆษณาออกจำเป็นต้องเสียเงิน 4.99$ เป็น IAP ครับ
John Gruber จาก Q Branch ล่าสุดเองก็ได้ออกมาเปิดเผยว่าทำไมเขาและเพื่อนร่วมงานของเขาถึงตัดสินใจในการขึ้นราคาแอพ Vesper ครับ สำหรับแอพ Vesper นั้นถูกปล่อยออกมาครั้งแรกในช่วงซัมเมอร์ 2013 ในราคา 4.99$ และเคยลดราคาลงไปเหลือ 2.99$ ในช่วงซัมเมอร์ 2014 จนถึงช่วงฤดูหนาว แต่หลังจากที่ได้พัฒนาแอพ Vesper ให้รองรับการใช้งานบน iPad แล้ว ทาง Q Branch จึงตัดสินใจขึ้นราคาเป็น 9.99$ โดยนาย Gruber กล่าวไว้แบบนี้ครับว่า “เราได้ลดราคาแอพ Vesper ของเราเหลือเพียง 2.99$ แต่มันก็ดูจะไปได้ไม่สวยเลย ดังนั้นเราจึงจัดการมันใหม่เพื่อให้แอพมีคุณภาพที่ดีขึ้นเพื่อขึ้นราคา ตอนนี้เราเองก็เหมือนกำลังวาดรูปลงบนผืนทราย และหวังเพียงว่าจะมีนักพัฒนา iOS คนอื่นๆทำตาม”
สรุปได้ว่าจริงๆแล้ว iOS App Store ก็ไม่ได้ทำให้เหล่านักพัฒนาสามารถหาเงินได้ง่ายเท่าไรนัก ถึงแม้ว่าผู้ใช้จะยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อแอพง่ายกว่าใน Android แต่ทว่าการแข่งขันที่สูงอาจทำให้ไม่สามารถขายแอพได้ดีเท่าที่ควร ทางเหล่านักพัฒนาจึงต้องหันมาเปลี่ยนกลยุทธอย่างที่เห็นว่า Arment และ Sinclair หันมาตามเทรนด์ของ iOS App Store คือการปล่อยแอพฟรีแล้วมี IAP เข้ามาแทน ส่วนทาง Q Branch กับเดินสวนทางกับตลาด ที่ใครจะแจกฟรีหรือลดราคาไม่ได้อยู่ในสายตาของ Q Branch อีกต่อไป แต่อย่างไรซะทั้ง 2 กลยุทธนี้ก็ถือเป็นวิธีการที่ดูน่าสนใจ และค่อนข้างสำคัญ และเหมือนว่าเราจะเคยเห็นโมเดลแบบนี้กันมาบ้างแล้วในตลาดของ Android อย่าง Play Store ครับ
แอพประเภทไหนที่ประสบความสำเร็จใน Android?
ขณะที่ตลาด Android เป็นที่รู้จักกันดีว่า ไม่ใช่ที่แรกที่นักพัฒนาแอพควรจะเริ่มหาเงิน แต่ก็มีเหล่านักพัฒนาจำนวนไม่น้อยเลยที่สามารถประสบความสำเร็จกับการทำแอพมาลงใน Android Play Store แห่งนี้ โดยความลับของความสำเร็จนั้นอยู่ที่การตามหาหมวดหมู่ของแอพให้ถูกต้อง และการค้นหาโมเดลทางธุรกิจที่ถูกต้อง
AgileBits เป็นตัวอย่างที่ดีที่เราจะหยิบขึ้นมาพูดถึงกัน จริงๆแล้วนักพัฒนาของที่นี่ให้ความสนใจและโฟกัสไปที่ Apple เป็นหลักมากกว่า แต่ล่าสุดก็เริ่มนำแอพ 1Password เข้ามาใน Android ซึ่งจริงๆแล้ว AgileBits นั้นมีแอพ 1Password ใน Android มาตั้งแต่ปี 2010 แล้วครับ แต่ทว่าแอพดังกล่าวทำได้เพียงแค่ช่วยผู้ใช้ในการจดจำ Usernames และ Password เท่านั้นแต่ไม่ได้มีฟีเจอร์อื่นๆพิเศษอะไร โดยแอพ 1Password ใน Android นั้นได้คงอยู่ในสภาพนั้นมาเกือบ 4 ปีเลยทีเดียว ก่อนที่จะมีการเปิดตัวใหม่อีกครั้งในปี 2014 โดยมีการเปลี่ยนแปลงรูปโฉมใหม่หมด และออกแบบมาให้เหมาะกับการใช้งานบน Android และทำงานได้เต็มประสิทธิภาพที่สุด
“เราต้องการให้แอพเข้าถึงทุกๆคน” กล่าวโดย Jeff Shiner CEO ของบริษัท “เรารู้ว่าผู้คนมากมายต่างใช้อุปกรณ์ที่แตกต่างกัน และยังใช้แพลตฟอร์มที่แตกต่างกันอีกด้วย ดังนั้นเราอยากให้พวกเขาได้รับความปลอดภัยในส่วนของ Password ในทุกๆที่ ไม่ว่าจะเป็นบนแพลตฟอร์ม OS X, Windows, iOS หรือ Android ก็ตาม”
การทำแอพให้เข้ากับทุกคนได้นั้นก็หมายถึงว่าทาง AgileBits กำลังเปลี่ยนกลยุทธ์ในการหารายได้เช่นกัน สำหรับการเริ่มต้นปล่อยแอพ 1Password ใน Android ให้สามารถโหลดไปใช้ได้ฟรี โดยมี in-app purchase เพียงครั้งเดียวเท่านั้นในราคา 9.99$ เพื่อปลดล็อคฟีเจอร์ต่างๆทั้งหมด โดยแอพ 1Password จะปล่อยให้โหลดไปทดลองใช้แบบเต็มๆได้เลยถึง 30 วันก่อนจากนั้นหากยังคงต้องการใช้บริการแบบเต็มรูปแบบก็จำเป็นต้องปลดล็อคครับ แต่หากไม่ปลดล็อคก็ยังคงใช้งานได้อยู่แต่ว่าแอพจะอนุญาติให้ผู้ใช้เข้าไปอ่าน Username และ Password ได้เท่านั้น ไม่สามารถใช้ฟีเจอร์อื่นๆได้
นอกจากนี้ยังมีอีกตัวอย่างความสำเร็จของการพัฒนาแอพที่ได้รับความนิยมใน Android ก็คือ Shifty Jelly โดย Shifty Jelly นั้นเป็นผู้อยู่เบื้องหลังแอพ podcast ที่ได้รับความนิยมอย่าง Pocket Casts นั่นเองครับ โดยทางบริษัทได้ออกมารายงานว่ายอดขายใน Android นั้นมีมากกว่ายอดขายใน iOS ถึง 5 เท่าเลยทีเดียว โดยในรายงานได้กล่าวว่า “ทุก 1 เซลล์ใน iOS นั่นหมายถึง 5 เซลล์ใน Android”
และอะไรเป็นสิ่งที่ทำให้ Pocket Cast ประสบความสำเร็จใน Android ขณะที่นักพัฒนาแอพรายอื่นๆกลับล้มเหลว? เราคิดว่าเหตุผลหลักๆเลยที่ทำให้ทาง Shifty Jelly ประสบความสำเร็จคือ การที่บริษัทเลือกพัฒนาแอพแนว podcast ออกมาในแพลตฟอร์ม Android ในขณะที่ผู้ใช้ Android กำลังโหยหาแอพ podcast ดีๆอยู่ เรียกได้ว่าตอบโจทย์ของตลาดได้ดีครับ ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้ทาง Google จะเสนอบริการอย่าง Listen ออกมาก่อนก็ตาม แต่ต้องปิดบริการนี้ลงในช่วงท้ายของปี 2012 ซึ่งนั่นก็เป็นเพราะว่ามันไม่ใช่แอพ podcast ที่ดีเพียงพอสำหรับผู้ใช้นั่นเอง ซึ่งตอนนี้ต้องบอกเลยว่าแอพอย่าง Pocket Casts ถือเป็นแอพที่ดีที่สุดที่ควรมีไว้หากต้องการแอพ podcast บนแพลตฟอร์ม Android
อีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ Pocket Casts ได้รับความนิยมอาจจะเป็นเพราะว่าแอพนี้มาในราคาที่เหมาะสม ถึงแม้ว่าราคาอาจจะไม่ได้แพงมากนักแต่นั่นก็เพียงพอที่จะทำให้ Shifty Jelly มีเงินทุนในการนำมาพัฒนาแอพต่อได้ ซึ่งราคานั้นเป็นราคาที่สมเหตุสมผลเมื่อมองในฐานะของผู้ใช้ ซึ่งในส่วนของราคาที่วางขายนั้นจริงๆแล้วเป็นเรื่องที่ตัดสินใจยากมากๆแต่ทาง Shifty Jelly ตัดสินใจได้ดีจึงประสบความสำเร็จจนถึงทุกวันนี้
Shifty Jelly ได้แสดงให้เห็นแล้วว่ามันมีอยู่จริงๆนะ ผู้ใช้ Android ที่ยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อแอพ เพียงแต่เราต้องรู้ให้ได้ว่าตลาดต้องการอะไร และเราค่อยทำมันออกมาขายด้วยราคาที่สมเหตุสมผล ถึงแม้จะเป็นอะรที่ยากสำหรับเหล่านักพัฒนา แต่เชื่อเถอะว่ายุคแห่งการขายซอฟท์แวร์ด้วยราคา 50$ ได้จบลงแล้ว จะอยู่ได้ก็มีแค่แอพแบบ Freemium และขายในราคาถูกเท่านั้น และเชื่อเถอะว่ายังมีผู้คนอีกนับล้านในแต่ละแพลตฟอร์มที่พร้อมจะยอมจ่าย
สรุป
ส่วนของนักพัฒนา
สำหรับนักพัฒนาทีมเล็กๆการทำแอพออกมาขายแบบต้องจ่ายเงินเลยตั้งแต่การดาวน์โหลดครั้งแรกอาจไม่ใช่สิ่งที่ควรทำนัก แต่สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องปกติที่บริษัทใหญ่ๆจะสามารถทำได้ อย่างเช่น Facebook ที่มีทีมนักพัฒนาขนาดใหญ่และมีประสิทธิภาพมาก ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่บริษัทเหล่านี้จะสามารถทำได้ แต่อย่างไรก็ตามไม่ใช่ว่า Android Play Store จะไม่สามารถทำเงินได้ อย่างที่บริษัทอย่าง Shifty Jelly ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าสามารถประสบความสำเร็จใน Android Play Store ได้เหมือนกับใน iOS App Store แต่นักพัฒนาควรที่จะพิจารณาในการตั้งราคาดีๆเพื่อให้สามารถมีรายได้เพียงพอมาพัฒนาแอพต่อๆไป
ส่วนของผู้ใช้
แล้วผู้ใช้ล่ะ? จะเป็นแบบนี้ไปตลอดหรือเปล่าที่ผู้ใช้งาน iOS จะได้ใช้แอพต่างๆก่อน Android ? จริงๆแล้วคำถามนี้เป็นคำถามที่ตอบยาก นั่นก็เพราะว่ามีหลายๆปัจจัยที่เข้ามาส่งผลกับเรื่องนี้ ซึ่งเรื่องหลักๆก็คือประสบการณ์ของนักพัฒนาที่เจอมากับตัวและการจัดลำดับความสำคัญของนักพัฒนาเอง ซึ่งการใช้งาน iOS นั้นเชื่อว่าผู้ใช้จะ Happy มากๆกับแอพดีๆมากมายที่มีให้เลือกใช้แต่ใน Android กลับยังไม่มี แต่ในทางกลับกันการใช้งาน Android ก็มีหลายๆฟีเจอร์ดีๆที่ไม่มีใน iOS เช่นกัน
ดังนั้นในส่วนของผู้ใช้ควรมองแบบนี้ครับว่าจริงๆแล้วอะไรที่สำคัญสำหรับเราเอง ตัวเราต้องการฟีเจอร์ที่ดีมากมายหลากหลายอย่าง Android หรือต้องการแอพดีๆมากมายที่มีให้ใช้อย่างนับไม่ถ้วนบน iOS ดังนั้นคุณควรเป็นคนเลือกเองว่าต้องการแบบไหนครับ
ที่มา : Droid-life