สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวถึงการทำหน้าที่รัฐมนตรีว่า
ตนได้หารือกับข้าราชการและผู้บริหารกระทรวงมานอกรอบบ้างแล้ว และสิ่งที่เป็นปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนคือเรื่องแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่จะต้องเร่งดำเนินการแก้ปัญหาเรื่องนี้เป็นเรื่องแรก ทั้งป้องกันและปราบปราม รวมถึงการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เท่าที่พูดคุยผู้บริหารสามารถทำได้ดี แต่จะเข้าไปดูในรายละเอียดอีกครั้ง ทั้งการยืนยันตัวบุคคลและอัตลักษณ์บุคคล ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งจำเป็น และอาจต้องแก้ไขระบบการยืนยันตัวตน
Advertisement Advertisement Advertisement
เราจะเห็นว่าบทสัมภาษณ์ข้างต้นล้วนแต่เป็นวิธีการแก้ปัญหาเชิงป้องกันโดยระบบยืนยันตัวตนก่อนจะโอนเงินให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ แต่ไม่มีวิธีเชิงรุกที่เป็นรูปธรรมเลย มันชวนให้นึกถึงคลิปวิดีโอตัวหนึ่งที่เป็นคลิปจัดการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้เจ็บแสบโดยไม่ต้องใช้งบประมาณแผ่นดิน เป็นเพียงการร่วมมือกันระหว่าง YouTuber 2-3 ช่อง ที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญเฉพาะ มีการสร้างทีม กำหนดเป้าหมาย และวางแผนการร่วมปีก่อนลงมือ พวกเขาทำอะไรบ้างสามารถดูได้ที่คลิปวิดีโอ ซึ่งมีพากย์ไทย แต่พอจะสรุปคร่าว ๆ ได้คือ
พวกเขาเริ่มตามแก๊งคอลเซ็นเตอร์จากเหยื่อที่อยู่สหรัฐอเมริกา คลิปวิดีโอทำให้เราเห็นได้ชัดเจนว่ามิจฉาชีพหลอกลวงเหยื่ออย่างไร? ณ จุดนี้คลิปของพวกเขาทำได้เหนือกว่าการแถลงข่าวจับกุมของตำรวจ และสื่อไทย ที่บอกแต่เพียงการสรุปเหตุการณ์ ไม่ให้เห็นชั้นเชิงของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่มีความสามารถสูงจนหลอกหมอ ครูอาจารย์ หรือแม้แต่ตำรวจได้ ถือว่านำเสนอออกมาได้ดีมากจริง ๆ
จากนั้นพวกเขาก็สร้างทีมงานที่รวบรวมเอาคนเก่งแต่ละด้านมาช่วยกัน กำหนดเป้าหมายคือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ความจริงแล้วตั้งอยู่อินเดีย และวางแผนการว่าจะทำอะไรบ้าง
เวลาผ่านไปเป็นปี พวกเขาเริ่มการแฮ็กเข้ากล้องวงจรปิดของศูนย์แก๊งคอลเซ็นเตอร์ 4 แห่งในอินเดีย ซึ่งอันนี้ขอนับถือเลย มันทำให้การวางแผนอื่น ๆ ทำได้ง่ายขึ้นมาก ทีมไอทีรู้แม้กระทั้งรหัสผ่านของหัวหน้าทีของแก๊งคอลเซ็นเตอร์เลย (ดูไปก็ถามตัวเองไปว่า คนเก่งๆ ในไทยมีเยอะแยะ ทำไมหน่วยงานรัฐไม่เอาไปใช้งาน)
ลำดับต่อมาก็ส่งนักสืบเอกชนแฝงตัวเข้าไปทำงานที่ศูนย์ของแก๊งคอลเซ็นเตอร์แห่งแรก 10 คน เพื่อเป็นผู้ดำเนินการในขั้นตอนต่อๆ ไป ซึ่งในนั้นมีแก๊งคอลเซ็นเตอร์กลับใจมาช่วย 2 คน ทำให้พวกเขาถูกดึงเข้ากลุ่มสนทนาที่มีสมาชิกมากถึง 50,000 คน จึงช่วยให้ติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ได้สะดวกขึ้น
ทุกขั้นตอนของการลงมือปฏิบัตินั้นมีความเสี่ยงเป็นอย่างมาก อันดับแรกคือช่อง YouTube ของพวกเขาดังพอตัวในเรื่องจัดการสแกมเมอร์ มีพวกแก๊งคอลเซ็นเตอร์สังเกตเห็นพวกเขาแล้วไปรายงานในกลุ่มสนทนาว่าถ้าเห็นอีกให้ยิงได้เลย ซึ่งทำให้พวกเขาหวาดกลัวจนเกือบถอนตัว สุดท้ายพูดคุยกันและตกลงลุยกันต่อ
สุดท้ายก็ลงมือตามแผนได้สำเร็จ (ทำอะไรบ้างนั้นดูในคลิปได้เลย) จนส่งผลทำให้ศูนย์แก๊งคอลเซ็นเตอร์ทั้ง 3 แห่งได้ประกาศปิดตัวชั่วคราว และแห่งที่ 4 ถูกตำรวจอินเดียเข้าตรวจค้นและจับกุมได้สำเร็จ
ที่เจ็บแสบที่สุดก็คือหลังจากทีมงานทุกคนกลับสหรัฐอเมริกาได้สำเร็จ ก็ได้โพสคลิปลงในกลุ่มสนทนา เฉลยว่าพวกเขาทำอะไรไปบ้าง และบันทึกข้อความที่สมาชิกคุยกันในห้องนั้นเอาไว้เป็นหลักฐานหมดแล้ว ส่งผลทำให้สมาชิกของกลุ่มออกจากกลุ่มแทบทั้งหมด
หมายเหตุ: ก่อนดำเนินการ ทีมงานได้แจ้งเจ้าหน้าที่รัฐแล้ว แต่ไม่มีการตอบสนอง ทำให้ทีมงานดำเนินการเองทั้งหมด
หลังจากดูคลิปวิดีโอนี้จบ ชวนให้เกิดคำถามมากมายว่า แค่ YouTuber ธรรมดา ใช้งบประมาณไม่เท่าไหร่ ใช้คนไม่มากมาย กำลังคน กำลังเงิน เทียบกับหน่วยงานรัฐไม่ได้เลย ทำไมเขาทำได้ แต่เราทำไม่ได้ หรือเราไม่ทำกันเอง??
แก้เผ็ดแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวง แก้แค้นด้วยระเบิดกากเพชรกลิตเตอร์
ที่มา: https://twitter.com/thestandardth/status/1699013929324970178